/ # Social & Politics / 5 min read

ข้อคิดเห็นบางประการเกี่ยวกับ "ข่มขืนต้องประหาร"

กระแสข่มขืนต้องประหารนั้นหายไปและกลับมาหลายครั้งในโลกโซเชียลของไทย เมื่อมีคดีข่มขืนกระแสนี้ก็จะกลับมา คนก็จะติดแท็ก #ข่มขืนต้องประหาร กันถ้วนหน้า แต่การที่เราแก้กฎหมายให้ข่มขืน = ประหารจะช่วยลดการข่มขืนอย่างมีนัยยะในประเทศไทยได้จริงหรือ?

การนำเสนอการข่มขืนในสื่อบางประเภท

สื่อกระแสหลักบางประเภทยังนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการข่มขืนอย่างไม่ถูกต้อง ขอไม่พูดถึงเรื่องการแยกแยะผิดชอบชั่วดีของผู้เสพ แต่อยากจะพูดถึงเรื่อง ละคร หรือนิยายบางประเภท ที่ยังนำเสนอและผลิตซ้ำการข่มขืนแบบโรแมนติค เพื่อการสานสัมพันธ์ระหว่างนางเอกและพระเอก ตัวพระเอกนั้นดูเหมือนมีความชอบธรรมบางประการในการข่มขืนนางเอกโดยมิได้มีความผิดตามชุดศีลธรรมในสมองของผู้เสพที่นิยมอ่านหรือดู และผลลัพธ์ในการข่มขืนก็จะได้ใจนางเอกเสียทุกครั้ง

ที่จริง ผมเคยได้ยินบางคนเสนอความคิดเกี่ยวกับการข่มขืนของพระเอกและนางเอกเพื่อสร้างความสัมพันธ์นั้นเป็น “ทริค” บางประการเพื่อเจาะกลุ่มตลาดที่ชอบเสพเนื้อหาพวกนี้ กล่าวคือ พระเอกนั้นก็จะมีความชอบธรรมในการข่มขืนจากหน้าตา ความร่ำรวย ฯลฯ ในขณะที่นางเอกนั้นก็จะต้องมีพรหมจรรย์ ไม่แสดงตัณหาทางด้านเพศของตนนัก แล้วถ้าต้องการให้มีเซ็กส์กันจะทำอย่างไร? ก็คงต้องข่มขืน เพื่อที่จะให้ฝ่ายนางเอกยังมีเซนส์ของความเป็นคนรักนวลสงวนตัวอยู่ หลังจากผมได้อ่านดูก็ค่อนข้างเห็นด้วยในการวิเคราะห์ ในแง่นี้เอง ผู้หญิงจึงจะให้ Consent ไม่ได้ ถ้ายังไม่แต่งงาน แต่ก็เกิดคำถามว่ามีเซ็กส์กันหลังแต่งงานไม่ได้หรือ หรือไม่ได้อารมณ์? แต่อาจจะเป็นเพราะกลุ่มตลาดที่มีรสนิยมประมาณนี้กระมัง

ว่าด้วยกฎหมายการข่มขืนในปัจจุบัน

กลับมาที่ประเด็นข่มขืนต้องประหาร ในปัจจุบันก็มีความพยายามผลักดันการแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มโทษ ก็คงต้องลองมาดูกฎหมายปัจจุบันโทษเป็นอย่างไร ขอรวบแบบสั้น ๆ เพื่อความเข้าใจง่ายคือ ถ้าผู้เสียหายไม่ได้ถึงแก่ชีวิตและไม่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ปรับสูงสุด 40,000 บาท จำคุกอย่างต่ำ 5 ปี สูงสุดตลอดชีวิต แต่หากผู้เสียหายหายได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 5-20 ปี ปรับ 10,000 - 40,000 บาท แต่ถ้าหากถึงแก่ความตาย จำคุกตลอดชีวิตและประหารชีวิต (มาตรา 276 - มาตรา 285 สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม)

ตอนนี้จึงสรุปได้คร่าว ๆ ว่ากฎหมายไทยเรา "ฆ่าข่มขืน" = ประหารชีวิต และตอนนี้ก็มีบางกลุ่มที่พยายามผลักดันให้ "ข่มขืน" = ประหารชีวิต

ผมเห็นว่าการเพิ่มโทษเพื่อลดการกระทำผิดอาจจะได้ผล ระยะยาวหรือไม่นั้นก็อีกเรื่อง แต่ในเรื่องการข่มขืนนั้นอาจจะค่อนข้างอันตรายและส่งผลไปในแง่ลบเสียมากกว่า เมื่อเราเพิ่มโทษการข่มขืนเป็นประหารทุกกรณีแล้ว หากผู้ข่มขืนได้กระทำเสร็จ ก็จะมีแนวโน้มที่จะฆ่าเหยื่อเสียมากกว่า ตามที่ TDRI เคยเสนอไว้ประมาณปีที่แล้ว (น่าจะรายการคิดยกกำลังสอง TPBS) จากข้อเสนอนั้นได้เสนอหลักการทางเศรษฐศาสตร์ คือหลักการ Marginal Thinking ซึ่งอธิบายว่า มนุษย์ไม่ได้คิดทุกอย่างไว้ก่อน แต่จะค่อยๆ คิดเป็นขั้นๆ ว่าต่อไปจะทำอะไรจากส่วนที่เกินมา

ในกรณีของการข่มขื หลังจากข่มขืนเสร็จ แล้วถ้าผู้ข่มขืนแล้วโดนจับได้ต้องประหารเท่านั้น เขาก็อาจจะเลือกฆ่าเหยื่อเผื่อปกปิดความผิด เพราะยังไงก็ต้องโดนประหารเท่ากันอยู่ดี จึงยอมเดิมพันที่จะฆ่าเหยื่อ

ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

การที่เราแก้กฎหมาย ข่มขืน = ประหาร นั้นอาจมีข้อดีคือผู้กระทำผิดไม่สามารถกลับมากระทำผิดได้อีก และ "แก้แค้น" ให้แก่ผู้ที่โดนกระทำข่มขืนอีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่านี่คือการใช้อารมณ์อย่างยิ่ง แต่ก็มีข้อเสียที่อาจจะทำให้ผู้บริสุทธิ์ตาย (จับแพะ) และตามที่กล่าวไปในหัวข้อก่อนๆ

วิธีการแก้ไขปัญหาจริงๆ มันไม่ใช่เพียงแค่คุณปลูกฝัง ป่าวประกาศชุดศีลธรรมอันดีบางอย่างเพื่อให้คนเข้าถึงพระธรรมความดี หรือพยายามโปรโมตว่าเราเป็นเมืองพุทธ ในขณะที่สภาพแวดล้อมมัน "เอื้อ" แก่การข่มขืน ความปลอดภัยบนท้องถนน แสงสว่าง ตำรวจ ที่ทั่วถึง ในขณะที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ในระดับที่ดี คนก็จะกล้าข่มขืนต่อไป เพราะมันทำได้ง่าย หรือแม้แต่การสอนตั้งแต่วัยเยาว์ การสอนในโรงเรียน สภาพแวดล้อมของผู้ก่อเหตุที่ถูกเลี้ยงดูมา นี่คือสิ่งที่เราต้องคิดในการแก้ปัญหากัน บางที่เราอาจจะตั้งโจทย์ผิด หรือแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

ผมเชื่อว่าการที่ตัวผู้หญิงจะใส่เสื้อผ้าที่ล่อแหลมเพียงใด ก็ไม่มีความชอบธรรมในการข่มขืนทั้งสิ้น การใส่เสื้อผ้าของเขาก็เป็นสิทธิของเขาในการที่จะเลือกและไม่ได้ให้สิทธิในการข่มขืนแก่ผู้ข่มขืน

ความตลกร้ายบางประการ

มีอีกประเด็นที่เคยได้รับฟังมาและอยากถ่ายถอดไว้ ที่แย่คือ เมื่อผู้หญิงถูกข่มขืนแล้ว เหมือนจะมีมลทินจากการที่โดนข่มขืนติดตัวมาในสายตาของหลายคนในสังคม พวกเขาที่โดนข่มขืนไม่ใช่คนปกติไปอีกแล้ว เพราะค่านิยมของสังคมบอกมาเช่นนั้น พวกเขาได้สูญเสียบางอย่างไป (พรหมจรรย์หรืออะไรบางอย่าง) ทำให้เกิดความอับอายขายขี้หน้า จนบางครั้งไม่กล้ามาเรียกร้องเพื่อ "สิทธิ" ของตนที่ถูกละเมิดไปจากการข่มขืน

เป็นที่น่าเสียใจว่า ผู้คนมิได้มองไปในเรื่องการที่ผู้หญิงคนนั้นถูกละเมิด "สิทธิ" แต่มองไปยังสิ่งอื่นเช่นร่างกายหรือพรหมจรรย์ ทำให้ผู้หญิงที่โดนข่มขืนจึงต้องปิดหน้าปิดตา เหมือนมีบาดแผลบางอย่างติดตัวไปตลอด ทั้งๆ ที่ควรจะ encourage เขาให้มีความกล้าในการออกมาต่อสู้ในเรื่อง "สิทธิ" ของตน

เราสามารถเห็นการกระทำประเภทสาดใส่ hate speech ของบางคน ซึ่งใช้โวหารประมาณว่า "ขอให้ผู้หญิงคนนั้นโดนข่มขืน" อะไรประมาณนี้ เพราะการที่โดนข่มขืนนั้นจะเหมือนมีมลทินบางอย่างไปตลอด

แต่ที่ตลกร้ายหนักกว่า คือ ผมมักเห็นพวกที่สนับสนุน ข่มขืน = ประหาร มักจะจะใช้โวหารดังกล่าวเสียอย่างนั้น


สุดท้ายการแก้กฏหมายก็คือความมักง่ายของคนบางกลุ่ม ที่คิดว่าการแก้กฏหมายจะช่วยลดการข่มขืนอย่างง่ายๆ เราต้องสังหาร 'คนชั่ว' กี่คนกันเพื่อที่จะได้สังคมที่ดีงาม แน่นอนว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ไขปัญหา ทำไมเรา (และโดยเฉพาะรัฐ) ไม่ไปแก้ไขที่กระบวนการที่ก่อให้เกิด 'คนชั่ว' เหล่านั้นขึ้นมาและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการก่อเกิดการข่มขืน

ข้อคิดเห็นบางประการเกี่ยวกับ "ข่มขืนต้องประหาร"
Share this