/ # Interview / 18 min read

จดบันทึก 6 ตุลาฯ ประวัติศาสตร์ที่ “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” : พวงทอง ภวัครพันธุ์

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเต็มไปด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงโดยรัฐ ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ พฤษภาทมิฬ การสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ พ.ศ. 2553 และยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่อาจจะดูไม่ใหญ่โตและไม่ได้ถูกกล่าวถึงในสังคม

แม้จะมีเหตุการณ์ความรุนแรงที่คร่าชีวิตประชาชนและนักศึกษาไปกว่า 40 คน หรือตัวเหตุการณ์จะสร้างผลกระทบต่อการเมืองไทยไปมากเท่าใด สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกลับไม่ถูกจดจำในสังคมไทย หนำซ้ำยังมีกลุ่มคนที่พยายามทำให้เราลืม ให้เรา “ก้าวต่อไป” อันนำไปสู่ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอยู่เรื่อยมา

หนึ่งในเหตุการณ์นั้นคือ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งอาจารย์ธงชัย วินิจกูลนิยามความทรงจำในวันนั้นไว้ว่า “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” ความรุนแรงของรัฐที่ไร้ความปราณีต่อมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งรวมถึง วิชิตชัย อมรกุล รุ่นพี่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ข้าพเจ้ากำลังเรียนอยู่

40 ปีผ่านไปประโยค “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” ถูกแปรเปลี่ยนเป็น “เราไม่ลืม!” หนึ่งในโครงการที่แสดงถึงความกล้าหาญในการจดจำเหตุการณ์นี้คือ โครงการบันทึก 6 ตุลา ซึ่ง รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในผู้ดำเนินการจัดทำให้เกิดขึ้นมา

ข้าพเจ้าและเพื่อนตัดสินใจไปคุยกับอ.พวงทอง มิใช่ในบทบาทที่เป็นอาจารย์รัฐศาสตร์ที่ตนกำลังจะต้องร่ำเรียนด้วย แต่ในฐานะที่เป็นผู้จดบันทึกและเผยแพร่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญนี้ เพื่อเข้าใจถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ พลวัตที่เกิดขึ้นในสังคม และเหตุผลว่าทำไมเราถึงควรไม่ลืม 6 ตุลาฯ!

o7a058108da360121dad2b3481abc3c75_18921041_191014_0001

อะไรคือจุดเริ่มต้นความสนใจในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

ดิฉันรับรู้เรื่อง 6 ตุลามาตั้งแต่สมัยที่เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์เมื่อปี 2525 และด้วยดิฉันเป็นเด็กกิจกรรมฉะนั้นทุกปีที่มีงานครบรอบเดือนตุลา ทั้ง 14 ตุลา และ 6 ตุลา ก็ต้องเข้าไปช่วยจัดงาน

ส่วนที่ตัดสินใจมาทำโครงการบันทึก 6 ตุลา มาจากการที่ได้คุยกับ อ.ธงชัย วินิจจะกูล เราคิดว่ามันมีข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับ 6 ตุลา ที่ยังจำเป็นต้องค้นคว้าหาคำตอบอีกมาก และช่วงนั้นเป็นช่วงที่กำลังเตรียมงานครบรอบ 40 ปี 6 ตุลา เราพบว่ามันมีความสับสนเกี่ยวกับคนตายอยู่มาก เช่น เข้าใจมาตลอดว่าคนที่ถูกแขวนคอมีคนเดียว แต่ในความเป็นจริง ทีมงานของบันทึก 6 ตุลา พบว่ามีคนที่ถูกแขวนคอ 5 คน และ 2 ใน 3 ของคนที่ถูกแขวนคอ จนวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร (อ่าน: 40 ปีผ่าน เจอข้อมูลใหม่ 6 ตุลา! คนถูกแขวนคอสนามหลวงมีมากกว่า 2 คน)

ด้วยเอกสารที่มีอยู่มาก คิดว่าคงถึงเวลาที่เราน่าจะเอาเอกสารชั้นต้นขึ้นบนออนไลน์ เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงได้ โดยหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะทำให้คนหันมาสนใจ และนำไปสู่การเปิดประเด็นการศึกษาเรื่อง 6 ตุลาฯ ที่มันมีความหลากหลายมากขึ้น เราอยากได้ความรู้ การตีความใหม่ๆ เราก็พยายามขุดข้อมูล เปิดมิติใหม่ๆ ของการพูดเรื่อง 6 ตุลาฯ ให้มากขึ้น

ย้อนกลับไปช่วงที่เรียนอยู่ธรรมศาสตร์ในปี 2525 ความเข้าใจเรื่อง 6 ตุลาฯ ในสังคมวงกว้างตอนนั้นเป็นอย่างไร

น้อยมากเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ตอนปี 2525 นักศึกษาส่วนใหญ่ แม้กระทั่งในจุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ ยังไม่รู้เรื่อง 6 ตุลาฯ ด้วยซ้ำ ยังไม่แน่ใจว่าถึง 20% ไหมที่จะรู้เรื่อง 6 ตุลาฯ และบรรยากาศกิจกรรมทางการเมืองปี 2525 เป็นช่วงที่เขาเรียกว่า “ยุคสายลมแสงแดด” ก็คือช่วงขาลงของขบวนการนักศึกษา

การรับรู้เรื่องราวเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ดูจะมากกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในหมู่คนทั่วไป คิดว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

ดิฉันคิดว่ามันเริ่มเปลี่ยน อย่างสมัยเราเป็นนักศึกษา 14 ตุลาฯ เป็นที่รับรู้ของคนมากกว่า เวลาจัดงานที่ธรรมศาสตร์ งานใหญ่คือ 14 ตุลา มีงานสันทนาการทางวัฒนธรรมวิชาการ ส่วน 6 ตุลามีแค่ประกอบพิธีทางศาสนาตอนเช้าเท่านั้น

แต่ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานี้มันเปลี่ยน คนพูดถึง 6 ตุลาฯ มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะภายใต้ความขัดแย้งทางการเมือง ความรุนแรง ความเกลียดชังที่ปรากฏอยู่ในการเมืองบนโซเชียลมีเดีย การอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร หรือแม้กระทั่งกรณีการปราบเสื้อแดงปี 2553 ก็มีคนพยายามเปรียบเทียบว่าคล้ายกับ 6 ตุลาฯ ดังนั้นสถานการณ์การเมืองในระยะหลายปีที่ผ่านมาเลยทำให้คนหันมาสนใจมากขึ้น

ศูนย์กลางการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในเดือนตุลาฯ ดูจะวนเวียนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ แล้วในมหาวิทยาลัยอื่น เช่น จุฬาฯ ซึ่งมีภาพลักษณ์เป็นฝ่ายขวา มีบทบาทอย่างไรในการเคลื่อนไหว 6 ตุลาฯ บ้าง

เวลาที่พูดถึงขบวนการนักศึกษาในยุค 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ มันไม่ใช่แค่ที่ธรรมศาสตร์ มันเกิดความตื่นตัวของนักศึกษาของทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ รวมถึงจุฬาฯ ด้วย จะเห็นว่า คุณสุธรรม แสงประทุม ซึ่งเป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยที่ถูกจับกุม เป็นนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ แล้วก็มีอ.สุรชาติ บำรุงสุข ขณะนั้นเป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ขบวนการนักศึกษาในขณะนั้นเป็นการร่วมมือกันของสโมสรนักศึกษาจากหลายสถาบัน แต่มีธรรมศาสตร์เป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหว

ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าผู้บริหารของธรรมศาสตร์ในขณะนั้นใจกว้างมากที่ให้นักศึกษาสามารถทำกิจกรรมได้อย่างเสรี สมัยที่ดิฉันเป็นนักศึกษา มีสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยอยู่ แล้วอมธ. ก็เป็นศูนย์กลางที่เพื่อนและนักกิจกรรมจากมหาลัยอื่นมาจัดกิจกรรม เช่น มหิดล เกษตรศาสตร์ จุฬาฯ แล้วนอนค้างคืนกันเป็นเรื่องปกติ ค้างคืนกันจนเหมือนเป็นบ้านหลังที่สอง แล้วสถานที่ตั้งของธรรมศาสตร์ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมือง

o7a058108da360121dad2b3481abc3c75_18921041_191014_0012

อะไรคือจุดเปลี่ยนของขบวนการเคลื่อนไหวนักศึกษาที่เสื่อมถอยลง ทำไมบรรยากาศที่อาจารย์เคยเจอถึงเลือนหายไป

พอเข้าสู่ช่วงการพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ก็เป็นการพ่ายแพ้ของขบวนการนักศึกษาที่อกหักจากพรรคคอมมิวนิสต์ มันไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าคุณกำลังต่อสู้เพื่ออะไร รวมถึงบรรยากาศทางการเมืองที่มันเริ่มเปิดมากขึ้นในยุคของประชาธิปไตยครึ่งใบ คนรู้สึกว่าระบอบที่มีอยู่มันก็ไม่ได้เลวร้ายจนเกินไป ฉะนั้นนักศึกษาเลยหมดความสนใจที่จะต่อสู้ทางการเมือง เขาไม่เห็นว่ามี ‘ศัตรูร่วม’ หรือโมเดลทางสังคมอย่างอื่นที่เขารู้สึกว่าจะต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา

ชนชั้นนำในขณะนั้นก็สรุปบทเรียนว่า ถ้าขืนยังเดินหน้าใช้นโยบายขวาจัดปราบปรามประชาชน ไม่เปิดให้มีสิทธิเสรีภาพ ในที่สุดแล้วมันก็จะยิ่งทำให้ขบวนการคอมมิวนิสต์เข้มแข็ง เพราะเป็นการผลักให้นักศึกษาเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มากยิ่งขึ้น ดังนั้นต้องปฏิรูป ต้องประนีประนอม สิ่งที่รัฐบาลทำก็คือเปิดโอกาสให้ออกมาโดยไม่เอาผิด บอกว่ายินดีให้กลับมาเรียนหนังสือ ให้กลับมาประกอบอาชีพโดยไม่มีคดี

ดูเหมือนกับว่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองกว่าทศวรรษจะยังไม่ได้สร้าง ‘ศัตรูร่วม’ ขึ้นมา อะไรคือปัจจัยที่ทำให้การเคลื่อนไหวไม่เกิดขึ้น หรือที่เรากำลังประสบอยู่ยังหนักไม่พอ

คำตอบหนึ่งซึ่งอาจจะไม่ถูก แต่เป็นความเห็นของดิฉัน คือ คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันเขามีทางเลือกทางสังคมมากกว่าคนในทศวรรษ 1970 ลองมองย้อนกลับไป เราอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อเนื่องมาจนถึง 2516 จะเห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจแย่มาก คนยุคนั้นตกงานกันเป็นว่าเล่น มันไม่มีความหวัง จะเห็นว่าสื่อมวลชนค่อนข้างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตอนเกิด 14 ตุลาฯ เขาคิดว่าพอแล้วกับระบอบทหาร มันจึงเกิดการลุกฮือขึ้นมา

แต่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 สังคมแตกออกเป็นขั้วชัดเจน ดิฉันเชื่อว่าจิตวิญญาณของการแบ่งเป็นเหลืองกับแดงในแง่ของการเอา-ไม่เอาทหารยังค่อนข้างชัดเจนมาก ทั้งมวลชนเสื้อเหลืองหรืออะไรก็แล้วแต่ดิฉันคิดว่ามวลชนของพวกเขาอ่อนแอลง แต่ก็ไม่ได้จนถึงกับไร้พลัง ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมยังสามารถระดมคนเหล่านี้ โดยเฉพาะสื่อมวลชนไว้เป็นพลังต่อต้านฝ่ายที่ต้องการเรียกร้องประชาธิปไตย

กลับไปที่ปัญญาชนคนรุ่นใหม่ ดิฉันคิดว่าภายใต้สถานการณ์ของสังคมในขณะนี้ ที่เรารู้สึกว่าเศรษฐกิจและสังคมมันแย่ เขาไม่อยากเอาชีวิตของตัวเองมาเสี่ยงกับการทุ่มเทต่อสู้ ในเมื่อเขามีทางออกให้กับชีวิตตัวเอง โดยเฉพาะปัญญาชนในมหาวิทยาลัย จำนวนมากเป็นชนชั้นกลางที่มีโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศ หรือมีโอกาสเข้าไปทำงานในกระทรวงหรือบริษัททุนใหญ่ๆ ซึ่งรู้ดีว่าถ้าเขามัวแต่ยุ่งเรื่องการเมือง เขาจะถูกตรวจสอบและอาจจะเสียโอกาสในการแสวงหางานเหล่านั้น

อนาคตเขาไม่ได้มืด นิสิตจุฬาฯ เป็นตัวอย่างที่ดี ยกตัวอย่างในคณะรัฐศาสตร์ เป็นเด็กที่มีคุณภาพ แต่จะเห็นว่าสิบกว่าปีที่ผ่านมา เราไม่เห็นขบวนการนักศึกษาที่เป็นกลุ่มเป็นก้อนของเด็กรัฐศาสตร์เลย ไม่ใช่เพราะเด็กเหล่านี้ไม่รู้ปัญหา เขารู้ แต่เขาไม่อยากเสี่ยงที่จะเอาอนาคตตัวเองมาทำงานการเมือง

การแบ่งขั้วทางการเมืองในยุค 6 ตุลาฯ กับในปัจจุบันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

มีส่วนที่คล้ายคลึงกัน แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว หลัง 14 ตุลาฯ ขบวนการนักศึกษามีแนวโน้มที่เอียงไปทางซ้ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งสร้างความหวั่นวิตกให้กับชนชั้นนำอย่างมาก เลยสร้างกระบวนการฝ่ายขวาขึ้นมาต่อต้านนักศึกษาที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น สื่อมวลชนฝ่ายขวา อย่างดาวสยามหรือบ้านเมือง รวมถึงสื่อของทหารเอง โดยมี agenda ที่สำคัญคือโจมตีขบวนนักศึกษา

สุดท้ายสิ่งที่เราเห็น คือ ความรุนแรงต่อขบวนการนักศึกษาใน 6 ตุลาฯ มันไม่ใช่ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น ภาพที่เห็นคนเอาเก้าอี้ฟาดศพ ปัสสาวะรดศพ เอามีดกรีด ตอกลิ่มใส่ศพ สิ่งเหล่านี้เป็นฝีมือของคนทั่วไป

แล้วภาพเหตุการณ์ที่เราเห็นในปัจจุบัน ณ เวลานั้นสื่อนำเสนอกันอย่างไร

สื่อมวลชนส่วนใหญ่จะลงรูปไม่มาก ในสมัยนั้นจะมีหนังสือพิมพ์ภาคบ่ายด้วย พอลงข่าว วันต่อมาก็ถูกปิดทั้งประเทศเป็นเวลา 3 วัน แล้วพอเปิดมาแล้วก็ยังไม่เสนอภาพ ภาพจะออกมาทีหลัง อาจจะสัก 1-2 ปี ถึงเริ่มมีภาพออกมา บางทีก็เป็นภาพจากสำนักพิมพ์ต่างประเทศ

บางทีเขาเผยแพร่ด้วยการจัดพิมพ์หนังสือ แต่ไม่ลงชื่อว่าเป็นใครหรือเอามาจากนักข่าวคนไหน นอกจากนี้จะมีนิตยสารของสมาคมนักข่าวอยู่ ซึ่งเอามาจากสื่อหลายฉบับ แต่ไม่ระบุว่าเอามาจากที่ไหนบ้าง

ราวกับว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากพูดถึง

เรียกได้ว่า 20 ปีแรก คนอยู่ภายใต้ความกลัว ไม่อยากพูดถึง ไม่กล้าเปิดเผยชื่อคนที่เห็น เห็นได้จากตัวอย่างของนักข่าวช่อง 9 ในขณะนั้น ที่เสนอคลิปวิดีโอ 6 ตุลาฯ แล้วในที่สุดก็ถูกถอด ถูกไล่ออกจากงาน

o7a058108da360121dad2b3481abc3c75_18921041_191014_0010

อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนกลับมากล้าพูดในปี 20 ปีให้หลังจากเกิดเหตุการณ์

จุดที่ทำให้ 6 ตุลาฯ กลับมาเป็นงานใหญ่คือตอนที่ครบ 20 ปี ต้องขอบคุณ อ.ธงชัย ที่เขียนจดหมายถึงเพื่อนๆ เดือนตุลา ว่ามันถึงเวลาที่เราต้องกล้าลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากับ 6 ตุลา ทำให้รู้สึกว่ามีอะไรอีกหลายอย่างที่เราควรที่จะกล้าออกมาพูด โดยเฉพาะเพื่อให้เพื่อนๆ ที่เสียชีวิตไปได้รับการให้เกียรติอย่างเปิดเผย และยอมรับว่า 6 ตุลาฯ เป็นเรื่องของความรุนแรงที่รัฐทำกับประชาชนแล้วไม่เคยต้องรับผิดชอบ ถึงแม้จะผ่านไป 20 ปีแล้วหรือกระทั่งปัจจุบัน มันยังมีเพดานการพูดอยู่ว่าใครอยู่เบื้องหลัง

ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยขึ้นมาตอนหลังคือ มีมากกว่า 1 คนที่ถูกแขวนคอ หนึ่งในนั้นที่ถูกกล่าวถึงบ่อยคือ วิชิตชัย อมรกุล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ข้อมูลเหล่านี้เป็นที่รู้กันตั้งแต่เมื่อไหร่

รู้ตั้งแต่หลัง 6 ตุลาฯ ใหม่ๆ แล้วว่าวิชิตชัย อมรกุลเสียชีวิตแล้วถูกแขวนคอ แต่ผ่านมาเกือบ 40 ปีถึงเพิ่งรู้ว่าไม่ได้มีแค่คุณวิชิตชัยคนเดียวที่ถูกแขวนคอ ฉะนั้นเวลามีการใช้ภาพเกี่ยวกับคนถูกแขวนคอ ซึ่งมีหลายภาพ แต่ละภาพถ้าดูกันจริงๆ โดยไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญก็รู้ว่าคนละคนกัน แต่มีการใช้ภาพของใครก็ไม่รู้แล้วบอกว่าคนนี้คือ วิชิตชัย จะเป็นแบบนี้ตลอดเวลา

2.vichitchai-print

ภาพจาก โครงการบันทึก 6 ตุลา

จากการที่ได้ทำโครงการบันทึก 6 ตุลา ยังมีส่วนไหนที่คนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ อีกบ้าง

มันคงไม่เปลี่ยนคำอธิบายเกี่ยวกับโครงสร้างความขัดแย้งโดยรวม แต่เรากำลังฉีกให้คนไทยเห็นตัวเองมากยิ่งขึ้น เป้าหมายหนึ่ง คือ เราต้องการแสดงความเคารพเหยื่ออย่างที่ควรจะเป็น เพราะเรามองว่าเหยื่อถูกกระทำย่ำยีราวกับพวกเขาไม่ใช่มนุษย์ วิธีที่เราจะให้เกียรติคนตายดีที่สุดคือ บอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาในฐานะปัจเจกชนคนหนึ่ง ที่มีคุณค่าต่อเพื่อน ต่อครอบครัวของเขา เราต้องการทำให้เห็นว่าความรุนแรงพรากความหวังของคนจำนวนมากไป

อีกด้านหนึ่ง เราพบว่าที่ภาพของ 6 ตุลาฯ มันประทับอยู่ในความรู้สึกของคนว่ามันเป็นความรุนแรง มันไม่ใช่เพราะตัวเลขคนตายเยอะกว่ากรณีอื่น เมื่อปี 2553 เสียชีวิตมากกว่านี้ แต่คนจะจำ 6 ตุลาฯ ได้เพราะความโหดเหี้ยมที่คนทำกับคนด้วยกันเอง มันเป็นการกระทำกับศพ กระทำกับคนที่เสียชีวิตแล้ว

ในสังคมที่มีอารยะ จะมีกฎหมายห้ามทำร้ายศพ สังคมไทยในปัจจุบันเองก็มี ต่อให้เขาเสียชีวิตแล้ว ต่อให้เป็นศัตรู คุณต้องปฏิบัติกับเขาด้วยความเคารพ จะขุดศพมาปู้ยี่ปู้ยำไม่ได้ เพราะมันส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจด้วย ศพมีเจ้าของ ศพไม่ใช่ขยะ ไม่ใช่ซากสัตว์ที่คุณจะทำอะไรก็ได้

ถ้าไปดูสิ่งที่เกิดขึ้น ปฏิบัติการหลายอย่างมทำเหมือนกับเขาเป็นสัตว์ การลากคนที่เสียชีวิตแล้ว ถูกยิงแล้ว และเรามีหลักฐานว่าเขาถูกยิงเสียชีวิตแล้ว แต่ก็จะเห็นศพถูกลากรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นี่คุณกำลังลากหมูลากหมาหรือเปล่า?

หรือว่าผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกเปลือยกายล่อนจ้อน เห็นหมดทั้งร่าง มีไม้หน้าสามวางไว้ข้างๆ ทำให้คนเข้าใจว่าเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วยไม้หน้าสาม 40 ปีที่ผ่านมาไม่มีคนถามว่าเขาคือใคร ในที่สุดหลังจากเราทำโครงการบันทึก 6 ตุลา เราค้นพบว่าเธอคือใคร ยืนยันว่าเธอถูกยิงเสียชีวิตก่อน แต่คุณเอาคนที่เสียชีวิต ผู้หญิงที่เสียชีวิตแล้วมาทำปู้ยี่ปู้ยำแบบนี้ มันทำลายความเป็นผู้หญิง ความเป็นคนของเขาไม่เหลือ รวมถึงอีก 5 คนที่ถูกแขวนคอ ยกเว้นคุณวิชิตชัยคนเดียว ที่เราคิดว่าตายเพราะถูกแขวนคอ คนอื่นเสียชีวิตด้วยกระสุนปืน

การที่เราเสนอข้อมูลแบบนี้ เพื่อทำให้เห็นว่าสังคมไทยมีศักยภาพที่จะใช้ความรุนแรงอย่างเหลือเชื่อ เป็นการพยายามทำลายมายาคติเกี่ยวกับตัวเอง สังคมต้องรู้จักตัวเอง เราต้องไม่อยู่กับการหลอกตัวเอง เพราะถ้าเราหลอกตัวเองอยู่ทุกวัน เราคิดว่าเราเป็นคนดี เป็นคนน่ารัก เป็นคนที่ปฏิบัติต่อกันและกันดี เราจะไม่มีความพยายามหยุดยั้งหรือว่าเตือนตัวเอง

doct6_website_1

ด้วยเหตุการณ์ที่รุนแรงขนาดนี้ เรื่องราว อย่างของคุณวิชิตชัยเองซึ่งเป็นนิสิตจุฬาฯ มีการรับรู้แค่ไหน อย่างน้อยในจุฬาฯ

คิดว่าเด็กจุฬาฯ รวมถึงในรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับคุณวิชิตชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่เองก็ไม่ได้สนใจประเด็นทางการเมืองหรือประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของตัวเอง คุณลองสัมภาษณ์พวกเพื่อนคุณ พวกรุ่นพี่คุณก็ได้ กี่คนรู้จักวิชิตชัย ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รู้จัก

เพราะอะไร

มองว่ามันอยู่ภายใต้กระแสสังคมที่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เองไม่ได้สนใจเรื่องประเด็นทางสังคมการเมือง ไม่แปลกใจ ควรจะเกิดขึ้นไหมก็อีกเรื่อง ในฐานะคนสอนหนังสือ เรามองสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสในสังคมที่มันเป็นไป

อาจารย์เป็นคนหนึ่งที่ได้ไปย้าย ‘ประตูแดง’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเหตุการณ์สำคัญอันนำไปสู่ 6 ตุลาฯ อะไรคือความสำคัญที่เราต้องเก็บรักษาประตูแดง

โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาฯ เป็นส่วนต่อขยายมาจากโครงการบันทึก 6 ตุลาที่เราทำ เพียงแต่ดิฉันไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง ในขณะที่เราเก็บข้อมูลการสัมภาษณ์ก็ไปเจอว่า หลายครอบครัวยังเก็บสะสมสมบัติส่วนตัวของคนที่ยังเสียชีวิตอยู่ บางกรณีเขาก็ยกให้เรา เราก็เก็บไว้ก่อน

ส่วนประตูแดง เราไปเจอด้วยการติดตามเกี่ยวกับเรื่องราวของพนักงานการไฟฟ้าสองคนที่ถูกแขวนคอ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2519 เราก็เห็นว่ามันทรุดโทรม คนทำงานก็รู้สึกว่าอยากจะเอามาเก็บไว้ก่อนดีกว่า ดีกว่าทิ้งไว้ตรงนั้น เพราะรู้อยู่ว่าทิ้งไว้ เจ้าของเขาก็คงเอาไปทิ้งสักวัน เพราะเขาก็ไม่ได้เห็นคุณค่าของมัน

วัตถุทางประวัติศาสตร์มีส่วนที่เป็นเอกสาร ซึ่งจะช่วยในการวิจัยศึกษาต่อไป ส่วนวัตถุเหล่านี้จะบอกเล่าเรื่องราวของมันเอง เรื่องราวคนละแบบกับตัวเอกสาร เวลาคุณเห็นวัตถุ อย่างเช่นประตู มันสร้างอารมณ์ความรู้สึก ว่าคุณกำลังยืนอยู่หน้าประวัติศาสตร์บางอย่างที่มันผ่านไป มันเป็นประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรง พิพิธภัณฑ์เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้คนได้ใกล้ชิดกับประวัติศาสตร์ในอีกแบบ

ได้พบเจออะไรจากการไปขอสิ่งของต่างๆ ญาติของผู้เสียชีวิตรู้สึกอย่างไรบ้าง

ของบางชิ้น อย่างหนังสือพิมพ์ของครอบครัวของคุณชุมพร ทุมไมย (หนึ่งในพนักงานการไฟฟ้าที่เสียชีวิตในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2516) พี่ชายแกเก็บหนังสือพิมพ์ไว้ เกี่ยวกับเรื่องราวการแขวนคอน้องชายเขา แกซื้อทุกฉบับเลยตอนนั้น ในที่สุดแกตัดสินใจที่จะยกให้กับทางโครงการ

เราไม่ได้ตั้งใจเก็บไว้ให้คนมาค้นคว้า เพราะของเรามีคอลเล็กชั่นที่สมบูรณ์อยู่บนออนไลน์ แต่เก็บไว้เพื่อบอกว่าหนังสือพิมพ์นี้สำคัญอย่างไร แกเก็บไว้ทุกๆ ฉบับด้วยความหวังว่าข้อมูลที่อยู่ในหนังสือพิมพ์เหล่านั้น จะใช้เป็นหลักฐานในการไปเอาผิดกับคนที่เกี่ยวข้องกับการสังหารน้องชายแก หนังสือพิมพ์เป็นตัวแทนของความหวัง แต่ด้านหนึ่งที่ให้เรามา แกก็ยอมรับว่าแกไม่มีความหวังแล้วว่าจะได้ความยุติธรรม แต่ก็หวังว่าจะเก็บมันไว้เป็นประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังเห็น

อาจารย์อยากเห็นอะไรจากพิพิธภัณฑ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น แล้วตัวพิพิธภัณฑ์จะเกิดขึ้นเมื่อใด

เท่าที่ทราบมา ไม่ง่ายนะคะ คนที่ทำงานเขาก็อยู่กับความเป็นจริง จะใช้เวลาสิบปีก็ได้ แต่ตอนนี้คือขายไอเดียไปก่อนว่ามีความพยายามจะทำสิ่งเหล่านี้ แล้วก็จัดนิทรรศการให้คนมาเห็นตัววัตถุหลักฐานเหล่านี้

ถ้าถามตัวดิฉันเองว่าอยากจะเห็นอะไร ดิฉันไม่อยากเห็นแค่พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาฯ เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มันควรจะเข้าไปอยู่ภายใต้ร่มใหญ่ ในสิ่งที่เรียกว่า ‘หอจดหมายเหตุสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย’ ซึ่งรวมถึงกรณีความรุนแรงทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ พฤษภาคม 2535 สามจังหวัดชายแดน มีข้อมูลมหาศาล มีเรื่องราวของคน มีหลักฐานอีกเยอะให้เก็บ แต่มันต้องใช้เงินมหาศาล ต้องใช้เจตจำนงโดยรวมของสังคม ภายใต้รัฐบาลที่เป็นอยู่ขนาดนี้ ไม่มีปัญญาทำ

ทำไมในประเทศไทย ดูจะไม่ค่อยมีความพยายามจดจำเรื่องเหล่านี้ ที่เห็นเด่นชัดอาจจะมีอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ อาจารย์คิดว่าเป็นเพราะอะไร ที่ภาครัฐหรือองค์กรไม่ได้คิดที่จะจดจำเรื่องราวเหล่านี้

คงมีหลายเหตุผล ข้อแรก สังคมไทยไม่ได้ให้ความสำคัญของความรู้ แม้กระทั่งวงวิชาการเอง ก็ไม่เห็นความสำคัญของการเก็บสิ่งเหล่านี้เพื่อเป็นความรู้ เป็นบทเรียนของคนรุ่นหลัง สถาบันการศึกษาในประเทศไทยขณะนี้มีสถาบันไหนบ้างสนใจเก็บข้อมูลเหล่านี้ ไม่มี ข้อสอง คนมีเงินในประเทศนี้ก็ไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษา ไม่เคยคิดจะบริจาคให้กับการศึกษาเป็นชิ้นเป็นอัน

สำหรับประเด็นเรื่องของความรุนแรงโดยรัฐ ทั้งสถาบันการศึกษา พูดง่ายๆ อาจารย์มหาวิทยาลัยก็มีความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มีอำนาจ ถ้าเราดูความรุนแรงโดยรัฐที่ดำเนินมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 จนถึงปัจจุบัน มันไม่ค่อยได้เปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง ผู้มีอำนาจที่ไม่ใช่ในแง่ของตัวบุคคลอย่างเดียว เราพูดถึงทั้งองค์กร สถาบัน กลุ่มเหล่านี้ยังเป็นโครงสร้างเดิม ขณะเดียวกันสังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์ ทั้งทางหน้าที่การงานในระบบราชการ รวมถึงเศรษฐกิจด้วย ไม่มีใครอยากเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมืองที่มันละเอียดอ่อนแบบนี้ เพราะเกรงว่ามันกระทบกระเทือนใจผู้มีอำนาจ และมันอาจจะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน รวมถึงการทำผลประโยชน์ทางธุรกิจ

มีประโยคที่มักพูดกันในสังคม คือ “ลืมอดีตแล้วก้าวกันต่อไป” เราควรเชื่อและทำตามไหม

“ลืมอดีตแล้วก้าวต่อไป” เป็นสาเหตุนึงที่ทำให้สังคมไทยไม่สนใจเรื่องความรุนแรงโดยรัฐ ไม่สนใจที่จะเก็บข้อมูลเหล่านี้ คนที่เป็นแอคทิวิสต์ที่ต่อสู้เรื่องสันติภาพ เรื่องสิทธิมนุษยชน ต่อต้านความรุนแรง หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐ หรือว่าจะเป็นพวกสายพุทธะทั้งหลายแหล่ ตั้งแต่ทศวรรษ 1970-80 แล้ว เวลาที่เขาพูดถึงว่า เราจะก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างไร มักจะบอกว่าต้องให้อภัย หรือก็ลืม ไม่งั้นสังคมก้าวต่อไปไม่ได้ ไม่อย่างนั้นถ้าคุณไปขุดคุ้ย จะทำให้ผู้มีอำนาจไม่พอใจ แล้วแทนที่จะยอมให้มีเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น เขาอาจจะจัดการกับคุณ แล้วยิ่งปิดทางการเมือง

ต่อให้ช่วงเวลาที่สังคมเป็นประชาธิปไตยมาก ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 กระแสแบบนี้ก็ยังครอบงำทั้งวงวิชาการ ทั้งนักกิจกรรม ทั้ง NGO ผู้นำทางสังคม ผู้นำทางปัญญาก็ยังพูดแบบนี้

นี่คือวิธีการจัดการความรุนแรงในสังคมไทย “อย่าไปรื้อฟื้นมัน ก้าวข้ามมัน” หมายความว่า คุณปล่อยให้คนที่มีอำนาจ คนที่กระทำผิดลอยนวลพ้นผิด สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคืออะไร? เราก็จะเจอแบบนี้อีก ที่ผู้มีอำนาจรัฐจะตัดสินใจจะใช้ความรุนแรงกับประชาชนอย่างง่ายดายมาก เพราะเขาไม่ต้องรับผิด เขาไม่เคยต้องมีบทเรียนว่า ถ้าเขาละเมิดสิทธิของประชาชน เขาจะต้องรับผิดชอบ

ฟังแบบนี้แล้วดูเหมือนจะเป็น “ยอมๆ กันไป” มากกว่า

ยอมๆ กันไป ก็คือคุณยอมให้เขากดขี่คุณ คุณยอมให้เขาละเมิดอยู่

สามารถดูวิดีโอในเพจ สมัชชาสิงห์ดำ

สัมภาษณ์/เรียบเรียง: ศุภณัฐ อเนกนำวงศ์
ภาพ: นันท์นภัส เอี้ยวสกุล
นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2562)

จดบันทึก 6 ตุลาฯ ประวัติศาสตร์ที่ “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” : พวงทอง ภวัครพันธุ์
Share this