/ # Social & Politics / 5 min read

ว่าด้วยศาสนาในรัฐไทยและการเป็นรัฐโลกวิสัย (Secular State)

เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ความขัดแย้งในมหาเถรสมาคมและการผลักดันศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และความขัดแย้งต่างๆ ถึงแม้รัฐไทยจะบอกว่าให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาก็ตาม แต่ก็ได้สนับสนุนศาสนาใดศาสนานึงมากอย่างชัดเจน จึงทำให้ผมซึ่งเป็นผู้ที่เคยนับถือศาสนาพุทธได้เกิดข้อสงสัย จึงได้ค้นหาข้อมูลมาบางส่วนแล้วจึงนำมาเขียนเป็นบทความนี้ ซึ่งบทความนี้จะกล่าวถึงพุทธศาสนาไทย ความขัดแย้ง การเมือง ตามทัศนะของผู้เขียนเอง

บทความนี้ไม่ได้เรียบเรียงเรื่องอย่างชัดเจน แต่จัดแบ่งไว้เป็นข้อๆ

ศาสนา-การเมือง: ศาสนาพุทธไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองจริงหรือ?

เป็นไปไม่ได้เลยครับที่ศาสนา(ในที่นี้คือพุทธ) จะไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยเลย ดังจะเห็นได้ว่าศาสนาพุทธนั้นเป็นหนึ่งใน 3 สถาบันหลักของไทย และธงไตรรงค์ก็มีสีน้ำเงินซึ่งหมายถึงศาสนา และด้วยประเทศเรานั้นยังไม่ใช่รัฐโลกวสัยหรือรัฐฆราวาส (Secular State) จึงกล่าวได้ว่าศาสนาพุทธกับการเมืองของไทยนั้นยังผูกติดกันอยู่ และมีอิทธิพลต่อการปกครอง ความคิดของคนไทยอีกด้วย ศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือรัฐมาอย่างยาวนาน ในการกำหนดศีลธรรมของพลเมืองในรัฐ เป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐไทยต้องบังคับวิชาพระพุทธศาสนาไว้ในบทเรียน

ศาสนากับความขัดแย้งทางการเมือง

ศาสนาพุทธถูกยกให้สูงขึ้นโดยอุดมการณ์ ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ โดยไม่มีการเปิดให้ตั้งคำถามกับศาสนา ศาสนาพุทธในไทยมิได้เป็นเพียงแค่สิ่งที่ไว้ใช้ฝึกตนเองหรือขัดเกลาตนเท่านั้น แต่มันกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นสิ่งที่รัฐนำมาใช้เป็นชุดศีลธรรมสำหรับประชาชนในรัฐเอง

มันจึงทำให้เกิดพระพุทธศาสนาแบบทางการขึ้น จึงเกิดการที่ไม่มีการตั้งคำถามแก่ศาสนาพุทธในไทย ผมมองว่าการที่เป็นเช่นนี้ทำให้ศาสนาพุทธ "แคบ" ไม่เปิดกว้าง ผู้คนคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วไม่ว่าจะเพราะกษัตริย์ทรงประทานมาให้หรือเพราะวาทกรรมที่ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีควาามเป็นวิทยาศาสตร์ก็ตาม

เมื่อผู้คนที่ยึดถือพุทธแบบทางการอย่างเอาจริงเอาจัง(มาก) เขาเชื่อว่าสิ่งที่เขายึดถือนั้นดีที่สุด เขาจึงมองผู้ที่คิดเห็นต่างจากตนเองหรือมีแนวปฏิบัติที่ต่างกันผู้ที่นับถือศาสนาต่างกัน ว่าเป็นผู้ที่ไม่เจริญ ยังโง่เขลาอยู่นัก ความคิดพวกเขาเหล่านั้นไม่เปิดกว้าง

เมื่อเป็น Secular State แล้วจะ(ต้อง)เกิดอะไรขึ้น

  • องค์กรทางศาสนาเป็นเอกชน
  • องค์กรทางศาสนาต้องโดนตรวจสอบในบัญชีทรัพย์สินโดยองค์กรอิสระ
  • องค์กรทางศาสนาจะโดนบีบบังคับให้พัฒนาตลอดเวลา เนื่องจากไม่มีการผูกติดศาสนาเป็นทางการ
  • มีนิกายเพิ่มมากขึ้นตามวิถีปฏิบัติ เพราะไม่มีวิถีปฏิบัติแบบทางการ
  • ศาสนาลงมาต้องเข้าถึงวิถีชีวิตของคนมากขึ้นเพื่อปรับตัวให้อยู่รอดในสังคม (เหมือนกับข้อบน)

ฯลฯ

ปัญหาการ Secularization: กรณีธรรมกาย

ธรรมกายถูกยกมาเป็นเหตุผลในการที่จะไม่เป็นรัฐโลกวิสัยเนื่องจากเหตุผลที่ว่าธรรมกายมีกำลังทรัพย์ที่มากในการทำโฆษณา เผยแพร่ต่างๆ กลัวว่าถ้าเป็น Secular State จริงๆแล้วจะทำให้ธรรมกายนั้นทรงพลังและไม่สามารถมีใครต้านทานได้ในสังคมที่มีความเป็นทุนนิยมนี้

แต่สิ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นคือการที่นำศาสนาพุทธไปเป็นศาสนาประจำชาตินั่นแหละจะทำให้ธรรมกายกลืนประเทศได้ง่ายขึ้น บางคนบอกว่าธรรมกายซื้อมหาเถรสมาคมไปแล้ว นั่นแหละครับ ยิ่งศาสนาผูกติดกับตัวรัฐมากเท่าใดและได้รับการสนับสนุนทางด้านทรัพย์และการเผยแพร่มากเท่าใด การที่ธรรมกายจะถูกเผยแพร่ไปสู่ประชาชนก็ง่ายเท่านั้นแหละครับ

คนที่นับถือธรรมกาย เขามิได้ทำความผิดอะไรเลย เขามีเสรีภาพที่จะศรัทธาในสิ่งที่เขาเชื่อ เขามีเสรีภาพที่จะลองผิดลองถูก ถ้าเขาคิดว่าธรรมกายไม่ดีเขาก็คงออกมาเอง

ข้อเสนอของผมคือ ทำ Secularization เสีย ถ้าคุณคิดว่าธรรมกายมันผิด มันไม่ดี คุณต้องชี้ว่าของๆคุณ(ศาสนาพุทธแบบที่คุณเชื่อว่าถูกต้อง)ว่าดีกว่าธรรมกายอย่างไร แต่เพราะศาสนาพุทธแบบทางการคุณมันไม่พัฒนาตามสังคมที่มีพลวัตรตลอดเวลา คนจะอยากพึ่งพึงได้อย่างไร สรุปคุณต้องมีน้ำยา

คณะสงฆ์ต้องกล้าปกครองกันเองโดยไม่มีอำนาจรัฐ

ปัจจุบันผมมองว่าคณะสงฆ์เองต้องมีความ "กล้า" ที่จะปกครองตัวเอง ดิ้นรนด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งอำนาจจากรัฐอีกแล้ว นี่ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Secular State

ปัญหาใหญ่: อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์

ดังที่กล่าวไปข้างต้น ปัญหานึงที่ใหญ่มากในการเปลี่ยนผ่านคือ คนนั้นยังมีอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ในตัวเอง เรามีสิ่งนี้เพื่อสะท้อนถึงความเป็นไทย ศาสนาเป็นสิ่งที่สถาบันกษัตริย์(ซึ่งสมัยก่อนก็คือผู้ปกครองรัฐ)นั้นค้ำชูมาตลอดจึงเป็นเหมือนของที่โดนประทานมาให้จากผู้ที่สูงส่งตั้งแต่อดีต ทำให้ไม่มีใครตั้งคำถามกับสถาบันศาสนานี้มาโดยตลอด เพราะมันชั่งดีงามซะเหลือเกิน ดังนั้นคนต้องมีศาสนา

ทำให้คนไทยหลายๆคนที่ถูกปลูกฝั่งอุดมการณ์แบบนี้มาจึงรู้สึกแปลกใจที่คนไม่มีศาสนา เพราะการที่จะเป็นพลเมืองที่ดีของรัฐได้ต้อง "รักชาติ"(แบบไหนมิทราบ) ต้องศรัทธาในศาสนา ซึ่งในที่นี้เป็นพุทธ และต้องรักสถาบันกษัตริย์

ดูได้จาก "เพลงหน้าที่ของเด็ก ถึง ค่านิยม 12 ประการ บอกอะไรเราบ้าง อดีต - ปัจจุบัน - อนาคต"

สุดท้ายผู้เขียนก็หวังว่าจะมีทางออกสำหรับรัฐไทยในการแก้ไขปัญหาศาสนาที่เรื้อรังมาอย่างยาวนานเช่นเดียวกับสถาบันอื่นๆของไทย ถึงจะเพิ่งดูเป็นประเด็นร้อนมาไม่ถึง 10 ปี ผู้เขียนอยากชี้ให้เห็นว่าศาสนานั้นมิได้สมบูรณ์แบบเสียทีเดียว ไม่ใช่สูตรสำเร็จ เป็นเพียงแนวทางปฏิบัติแนวทางหนึ่ง จึงไม่ควรยกศาสนาใดศาสนานึงให้ใหญ่กว่าอีกศาสนา และยัดเยียดลงบทเรียน มนุษย์มีตรรกะพอที่จะลองผิดลองถูก เลือกสิ่งที่ตนเองเชื่อและศรัทธา การเป็น Secular State อาจจะทำให้เราเห็นศาสนาในมุมใหม่ๆ มากขึ้น และแก้ไขปัญหาบางอย่างที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน ด้วยการเปิดให้มันกว้าง ให้มันโปร่งใส (Transparency) มันจึงเห็นได้ทะลุปรุโปร่ง เราไม่ได้อยู่ในยุคกลางอีกแล้ว ตอนนี้กำลังจะเข้าสู่ Post-modern แล้ว

ว่าด้วยศาสนาในรัฐไทยและการเป็นรัฐโลกวิสัย (Secular State)
Share this