/ # Review / 7 min read

Norwegian Wood: ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย โดย Haruki Murakami

อาจมี Spoil ภายในบทความนี้และมีการตีความตามทัศนะของผมจำนวนมาก

ความเป็นมาที่เลือกอ่าน

เมื่อสองวันก่อนผมมีโอกาสได้ไปเดินแถวสยาม ปิดเทอมครั้งนี้สำหรับผมนั้นชั่งน่าเบื่อและไม่มีอะไรทำอย่างยิ่ง เมื่อได้ไปถึงแล้วจึงเข้า Kinokuniya เพื่อหาหนังสือฆ่าเวลา เพียงแค่เข้าไปก็พบเจอกับหนังสือของ Haruki Murakami อยู่ตรงหน้า นักเขียนคนนี้มีชื่อเสียงทั้งในทางดีและลบมากมาย หลายๆ คนบอกไว้ว่าถ้าชอบงานของเขาก็จะชอบไปเลย ถ้าเกลียดก็เกลียดมาก ได้ยินแล้วจึงสนใจมากและหยิบหนังสือ "Norwegian Wood" ไปจ่ายเงินและออกจากร้าน

มีหนังสืออีกหลายเล่มบนชั้นวางหนังสือ แล้วทำไมผมถึงเลือกหยิบ "Norwegian Wood" มา? ส่วนตัวผมเคยสัมผัสหนังสือของ Murakami อีกเล่มคือ "Kafka on the Shore" เป็นหนังสือที่มีความเป็น Magical Realism มาก จึงไม่เลือกหยิบ เดี๋ยวอ่านไม่รู้เรื่อง แล้วเล่มอื่นๆ หล่ะ? จริงๆ แล้วที่หยิบเล่มนี้มีสองเหตุผล อย่างแรกผมได้รู้จักหนังสือเล่มนี้ผ่านไอดอลญี่ปุ่นวง Nogizaka46 นามว่า Hashimoto Nanami อย่างที่สองคือ มีมิตรสหายเล่าว่าเล่มนี้จะว่าด้วยความรัก เซ็กส์ ความตาย เนื้อเรื่องมืดมนดำดิ่ง เด็กๆ ไม่ควรอ่าน (แต่นี่อ่าน) ซึ่งถูกจะจริตผมเป็นอย่างยิ่ง อย่างที่สามคือ เคยคิดที่จะไปซื้อที่ห้างแต่หาแล้วไม่เคยเจอ แต่มาคิโนะมันมีเลยถือโอกาสหยิบมา

เริ่มเรื่อง...

เมื่อเปิดหนังสือเริ่มอ่านที่หน้าแรกของเนื้อเรื่องนั้นเราจะพบเจอกับพระเอกของเรา เขาชื่อว่า "Watanabe Toru" หรือ "วาตะนาเบะ โทรุ" เขากำลังนึกถึงเรื่องต่างๆเมื่อ 19 ปีก่อนหลังจากฟังเพลง "Norwegian Wood" ของ The Beatles ในขณะนั้นเขาพึ่งเดินทางมาถึง Hamburg, Germany และเนื้อเรื่องก็ตัดไปสู่เมื่อพระเอกพึ่งเข้ามหาลัย

ตัวละครในเรื่องนี้นั้นค่อนข้างออกไปทาง "สุดโต่ง" เกือบทุกคน พระเอก "วาตะนาเบะ โทรุ" นั้นเขาดูเหมือนไม่ค่อยสนใจอะไรนัก ปล่อยตัวเองเดินไปตามกระแสผู้คน จิตใจว้าเหว่เดียวดาย แต่ดูเหมือนเขาต้องการคนที่เข้าใจเขา "นาโอโกะ" หญิงที่เป็นรักแรกของพระเอก เธอมีอาการทางจิต เนื่องจากการตายของเพื่อนชาย "คุซึกิ" ซึ่งก็เป็นเพื่อนของพระเอกเหมือนกัน "มิโดริ" ผู้หญิงอีกคนที่โผล่เข้ามาในชีวิต เธอมีความเป็นเสรีนิยมอยู่ในตัว มีความร่าเริงและเจิดจ้าจนแปลกประหลาด แต่เธอก็ยังมีเรื่องต่างๆในชีวิตมาก ทั้งการตายของพ่อแม่เธอและการไม่ได้รับความรักจากพ่อแม่ตามที่คาดหวัง "นากะซาวา" เขาเป็นเพื่อนที่เข้ามาในชีวิตของพระเอก เขานั้นดูจะสมบูรณ์แบบ ทำอะไรก็ดูจะสำเร็จไปเสมอ เขาสามารถกลืนทากสามตัวเพื่อให้พวกปีสามก้มหัวให้เขา แต่เขาก็ดูจะมีปัญหาอีกเช่นเดียวกัน คือเขานั้นไม่เคยรักแม้แต่ตัวเองและคนรอบข้าง "อิชิดะ เรย์โกะ" เธอเป็นเพื่อนกับ "นาโอโกะ" ตอนที่อยู่ในสถานพักฟื้นเพราะเธอก็เป็นหนึ่งในผู้ป่วย เธอนั้นก็มีปัญหาเหมือนคนอื่นๆ เช่นกัน และสุดท้าย "สตอร์มทรูปเปอร์" นี้ไม่ใช่ชื่อจริงของเขาแต่เป็นเพียงฉายา เขาโดนนำมาล้อและพระเอกนำมาใช้เรียกเสียงหัวเราะเป็นประจำ เขาดูมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง ทำตามแบบแผน เขาเป็นรูมเมทของพระเอก และทำให้พระเอกรักความสะอาดมากขึ้น

เนื้อเรื่องพยายามชี้ให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์แบบของคน (imperfect) อย่างที่เห็นได้จากตัวละครต่างๆ ก็จะมีความแหว่งบุบเบี้ยวเป็นธรรมดาสามัญแม้แต่คนที่ดูแล้วจะสมบูรณ์แบบก็ตาม

อีกเรื่องคือสาวๆ ในเรื่องสวยทุกคน (ฮา) จากคำบรรยาย ผมนี่จินตนาการตามเลยครับ

ช่วงเวลาในเรื่องเป็นช่วงมี 1960s วัฒนธรรมตะวันตกฟุ้งกระจายไปยังญี่ปุ่น ช่วงที่พระเอกเรียนอยู่นั้นเป็นช่วงสงครามเวียดนาม อีกทั้งยังเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังดูดีงาม ความเป็นทุนนิยมแพร่กระจายทั่วโลกไม่เว้นแต่ญี่ปุ่น อีกอย่างคือช่วงนั้นเป็นช่วงที่นักกิจกรรมซึ่งเป็นนักศึกษาฝ่ายซ้ายที่อยากปฏิวัตินั้นออกมาประท้วงกันตลอด

ในเรื่องมีการเสียดสีการเมืองอยู่ ถึงอาจจะไม่มากนัก เช่นเรื่องของธงชาติ มีการตั้งคำถามว่าทำไมต้องชักธงขึ้นและนำลงในช่วงเย็น ทั้งๆที่ประเทศก็เคลื่อนไหวตลอดแม้เป็นตอนกลางคืน อย่างงั้นคนที่ทำงานกลางคืนก็ไม่ได้รับการปกป้องจากธงงั้นสิ ? และธงการชักธงก็ดูจะมีประโยชน์เมื่อพระเอกนั้นเผลอหลับและไม่รู้ว่าเป็นเวลากี่โมงแล้ว เขาออกไปดูนอกหน้าต่างและเห็นธงชักลงจึงรู้ว่าเป็นตอนเย็น อีกเรื่องคือการเสียดสีพวกนักศึกษาฝ่ายซ้ายที่ออกมาปฏิวัติ และคอยด่าพวกนักศึกษาที่ไม่สนใจว่าเป็นพวกไม่เอาไหน ใดนเรื่องมีการแฉว่านักศึกษาพวกนี้อ่านหนังสือ "ทุน" ไม่รู้เรื่องเสียด้วยซ้ำ พอได้หนังสือมาก็แชร์ๆกันอ่าน แต่ก็ไม่เข้าใจ สมองกลวงเปล่า และก็ออกมาประกาศปาวๆ สุดท้ายพวกนี้ก็โดนจัดการและกลับเข้ามาเรียนตามปกติเสียซะอย่างงั้น (?)

“ความตายดำรงอยู่, มิใช่ภาคตรงข้าม, หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต”- โทรุ วาตานาเบะ

ความตายในเรื่องดูจะเป็นสิ่งหนึ่งที่เรื่องนี้พยายามเสนอออกมาในเรื่อง การตายของแต่ละคนทำให้การดำเนินอยู่ของตัวละครในเรื่องเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน และทำให้การพัฒนาของตัวละครก้าวไปอีกขึ้นหนึ่ง

เซ็กส์ในเรื่องดูจะเป็นเครื่องมือบางอย่างอย่างน่าสนใจ ในเรื่องได้สะท้อนถึงสังคมญี่ปุ่นยุคนั้นที่วัฒนธรรมตะวักตกเข้ามา วัฒนธรรมฮิปปี้ การมีเซ็กส์ ซึ่งพอคนรุ่นใหม่อ่านแล้วรู้สึกสนใจเพราะแปลกใหม่สำหรับเขา แต่คนรุ่นเก่าๆอาจจะไม่ อ่านแล้วรู้สึกว่าเซ็กส์เป็นเครื่องมือเติมเต็มอะไรบางอย่าง "โทรุ" นั้นดูเหมือนเซ็กส์เป็นเครื่องมือลดความอยากของตนเท่านั้น ถึงนั้นจะไม่ใช่ตัวตนของเข้าจริงๆก็ตาม เพราะเขายังนึกถึง "นาโอโกะ" อยู่เสมอ "นากะซาว่า" ได้เสียกับหญิงมานับไม่ถ้วน มองเซ็กส์ว่าเป็นเกมอย่างหนึ่ง "นาโอโกะ" ก็มองเซ็กส์ในฐานะอีกแบบ เธอไม่มีอารมณ์ทางเพศเลย มีแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่จำเป็นในการใช้ชีวิตคู่ อีกคนคือ "เรย์โกะ" เธอทำให้ผมคิดว่าเซ็กส์ในเรื่องนี้เป็นเครื่องมืออะไรบางอย่าง เธอออกจากสถานพักฟิ้นมาหลังจากเธออยู่มาได้ 8 ปีและเธอก็มีเซ็กส์กับพระเอก เหมือนเติมพลังชีวิตให้กลับสู่โลกอะไรอย่างงั้น บทอัศจรรย์ในเรื่องมีมากนัก บรรยายได้ "เห็นภาพ" (ฮา) แต่อ่านแล้วไม่ใช่ Service สำหรับคนอ่าน แต่เป็นอ่านแล้วกลับทำให้เข้าใจบางอย่างในเรื่องได้

คนรักกับคนที่ขาดไม่ได้อาจจะไม่ใช่คนเดียวกัน (งงใช่ไหม แนะนำให้ลองอ่าน) เรื่องนี้ทำความเข้าใจได้ยากมากสำหรับผมที่อ่อนประสบการณ์ แต่หนังสือนี้ก็เปิดแง่มุมใหม่ๆออกมา "โทรุ" นั้นรัก "นาโอโกะ" มากแต่อีกทางเข้าก็ขาด "มิโดริ" ไปไม่ได้อีกเช่นกัน จริงๆเรื่องความรักในเรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อนและยังมีประเด็นอีกหลายประเด็นให้ผู้อ่านขบคิด

แต่อย่างว่าเพราะผมขี้เกียจพิมพ์

หนังสือเล่มนี้มีเนื้อเรื่องเปราะบาง หลากหลายอารมณ์ แม้แต่อารมณ์ขันก็ตาม

“บอกหน่อยสิ, วาตานาเบะ-คุง”

“นักศึกษาชายที่นี่ ว่าวกันทุกคนหรือเปล่า?”

“เป็นไปได้”

“แล้วผู้ชายนึกถึงผู้หญิงหรือเปล่าตอนว่าว?”

“ก็คงเป็นเช่นนั้น ผมไม่คิดว่าจะมีใครนึกถึงตลาดหลักทรัพย์หรือคลองสุเอซในยามว่าว"

จากฉบับแปลไทยของคุณนพดล เวชสวัสดิ์

บทสนทนาระหว่าง "โทรุ" กับ "มิโดริ" เธอนั้นเรียนโรงเรียนหญิงล้วนมา เธอจริงมีความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องเพศ (ถึงจะไม่รู้ว่าแกล้งหรือเปล่า) ซึ่งก็ "โทรุ" ก็ตอบได้มีอารมณ์ขันและคมคายเป็นอย่างยิ่ง

สุดท้าย (เนื่องจากเมื่อยแล้ว จริงๆยังมีเล่าอีก ยังไม่ได้พูดอีกหลายประเด็น) เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความ Post-modern (คิดว่านะ) ทั้งเรื่องที่จบแบบปลายเปิด การเปิดให้คาดเดาความคิดของตัวละครในเรื่อง อารมณ์เมื่ออ่านจบของแต่ละคนก็ต่างๆกันไป เรื่องเซ็กส์ ความรัก การเติมเต็มอะไรบางอย่าง เรื่องนี้มีความเป็นตะวันตกสูงเนื่องจาก Murakami ชื่นชอบวัฒนธรรมที่เป็นตะวันตก ตัวละครในเรื่องก็ชอบอะไรตะวันตก ฟังเพลงตะวันตก อ่านวรรณกรรมตะวันตก อีกอย่างเรื่องนี้มีหลากหลายอารมณ์ แต่เด่นๆเลยคือความว้าเหว่ ความเหงาเมื่ออยู่คนเดียวอย่างพระเอก ทำให้เมื่ออ่านจบแล้วรู้สึกแปลกๆ แต่ถึงกระนั้นก็มีบางอย่างที่คนที่อายุน้อยอย่างผมยากที่จะเข้าใจ แต่อ่านแล้วก็ให้แง่มุมใหม่ๆ ก็คงอย่างที่หลายๆคนบอกว่าอ่านแล้วถ้าชอบก็จะชอบไปเลย ถ้าเกลียดก็จะเกลียดมาก

จนบางครั้งคิดว่า Murakami บรรยาย "ปัญหา" บางอย่างออกมาได้ดีและสวยงามเดินไป และทำให้คนอยากจะจมอยู่กับปัญหานั้น....

คิดไปคิดมาว่าจะหาหนังสือเล่มอื่นของ Murakami อ่านอีกครับ สวัสดี

Norwegian Wood: ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย โดย Haruki Murakami
Share this