/ # Social & Politics / 7 min read

มองดูอินโดนิเซีย ในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยประชาธิปไตย

หนึ่งในประเด็นสำคัญในการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมบางกลุ่มในไทยก็คือ "คอร์รัปชั่น" ใช่ไหมครับ

วันนี้ผมเลยจะเอา Case Study จากประเทศในกลุ่มอาเซียนของเรานี่เอง มาให้เราดูกันว่าเขาพัฒนากระบวนการปราบปรามกับคอร์รัปชั่นอย่างไรให้น้อยลง และกำลังจะแซงไทย

บทความนี่ได้แรงบันดาลใจในการเขียนจากตอนที่ไปอ่านบทความใน TDRI งานวิจัยของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ในเรื่องคอร์รัปชั่นกับประชาธิปไตย ที่อาจารย์ได้ไปพูดในงาน ข้อมูลบางส่วนจึงนำมาจากวิจัยของท่านอาจารย์ประจักษ์ด้วย

ประเทศที่ผมจะนำมาเขียนในวันนี้ก็คืออินโดนิเซีย หลายๆคนอาจจะมองว่าอินโดนิเซียเนี่ยมีการโกงมากมาย จะทำอะไรๆ ถ้าจะทำอย่างรวดเร็วก็ต้องใช้เงินเป็นตัวเร่ง หรือแม้จะผ่าน ตม. ก็ต้องจ่ายเงิน (ไม่รู้จริงเปล่า ฮา) แต่หลังจากการล้มลงของระบอบซูฮาร์โต้ อินโดนิเซียก็เริ่มเปลี่ยนไป ถึงปัจจุบันจะยังมีการคอร์รัปชั่น แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ยุคของซูฮาร์โต้กับการคอร์รัปชั่น

ในยุคของซูฮาร์โต้ที่เรียกได้ว่าเป็นเผด็จการรวมอำนาจทั้งทางด้านเศรษฐกิจให้กับพวกพ้องของต้นเองและทางด้านการเมืองในการกำจัดขั้วตรงข้าม ทำให้การคอร์รัปชั่นในอินโดนิเซียเกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากอำนาจใช้ในที่มืด(ไม่มีใครรู้/รู้แค่กลุ่มเดียว) อำนาจอยู่ในคนกลุ่มเดียวเท่านั้น

Corruption Perceptions Index ขององค์กร Transparency International ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้เกินจริงๆแต่อย่างใด สังเกตุตั้งแต่เริ่มทำการวิจัยในปี 1995 - 1999 ในยุคทีระบอบซูฮาร์โต้ยังคงมีอำนาจอยู่

  • ในปี 1995 อยู่ในอันดับสุดท้าย จาก 41 ประเทศ
    [อ้างอิง]
  • ในปี 1996 อยู่ในอันดับที่ 45 จาก 54 ประเทศ
    [อ้างอิง]
  • ในปี 1997 อยู่ในอันดับที่ 46 จาก 52 ประเทศ
    [อ้างอิง]
  • ในปี 1998 อยู่ในอันดับที่ 80 จาก 85 ประเทศ
    [อ้างอิง]
  • ในปี 1999 อยู่ในอันดับที่ 96 จาก 99 ประเทศ
    [อ้างอิง]

Corruption Perceptions Index ไม่ใช่เครื่องมีที่สมบูรณ์แบบหรือไม่มีปัญหา แต่ดีที่สุดในเวลานี้ที่จะศึกษา

จะสังเกตุได้จากข้อมูลข้างต้นว่า อินโดนิเซียในระบอบของซูฮาร์โต้นั้นมีการคอร์รัปชั่นที่สูงกว่าในประเทศอื่นๆมาก โดยอยู่อันดับรั้งท้ายตลอดในการจัดอันดับ

หลังการล่มลงของซูฮาร์โต้ จุดเปลี่ยนของอินโดนิเซีย

ในปี 2002 ได้มีการจัดตั้ง The Corruption Eradication Commission of Indonesia หรือในภาษาอินโดนิเซีย The Komisi Pemberantasan Korupsi (KPK)
จากการกดดันของ IMF ที่จะไม่ปล่อยกู้ถ้าไม่มีการจัดตั้งตัวองค์กรดังกล่าวนี้ ร่วมกับภาคประชาสังคมที่ตื่นตัวมากขึ้น เนื่องจากตนเองก็โดนทำร้ายมาอย่างยาวนานจากระบอบของซูฮาร์โต้เอง

รู้จักกับ KPK

คณะกรรมการ KPK นั้น มี 5 คน ไม่สามารถอยู่เกิน 2 วาระ วาระละ 4 ปีเท่านั้น สำหรับที่มาคือประธานาธิบดีจะตั้งกรรมการเพื่อคัดสรรตัวแทนที่ภาคประชาสังคมและภาครัฐนั้นส่งตัวแทน(กรรมการ) มาให้และคัดให้เหลือ 5 คน

สำหรับกระบวนการรับสมัครนั้นมีการประกาศต่อสาธารณะ มีการทดสอบทางจิตวิทยา มีบุคคลกรที่เชี่ยวชาญมาช่วยคัดเลือก จึงมีความโปร่งใสทางด้านที่มาของกรรมการทั้ง 5 คน

อำนาจของ KPK นั้นถือว่ากว้างมากและมีอิสระในการทำงานเมื่อเทียบกับองค์กรปราบปรามคอร์รัปชั่นอื่นๆ ถึงขนาดสามารถดึงคดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ อัยการ เพื่อมาดำเนินการเองได้ และมีอำนาจในการฟ้องราชการ สภา แม้การทั่งผู้พิพากษาเอง

KPK เองมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารกับการต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างเป็นประจำ มีช่องโทรทัศน์เป็นของตัวเอง จึงทำให้ตัวประชาชนเองมีความรู้และ awareness มากขึ้น

ด้วยการที่ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง มีความตื่นตัวกับการคอร์รัปชั่นมากขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่มีสาเหตุหนึ่งมาจากการคอร์รัปชั่นของระบอบซูฮาร์โต้เอง จึงทำให้มีเสียงสนับสนุน KPK มาก เนื่องจาก KPK นั้นมีผลงานเชิงประจักษ์ มีภาพลักษณ์ที่ดี จนประชาชนยอมออกมาปกป้ององค์กรเมื่อรัฐบาลมีการกดดัน KPK

KPK กับผลงานเชิงประจักษ์ในการปราบคอร์รัปชั่น

KPK มีเป้าหมายที่ค่อนข้างสูง (หมายถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูง) จำเลยข้อหารวมกว่า 30 คน เป็น สมาชิกของรัฐสภา แม้กระทั่งรัฐมนตรี, นายกเทศมนตรี ,ทูตกงสุล, ข้าราชการ, ผู้ว่าการรองผู้อำนวยการธนาคารกลาง, ผู้พิพากษา, อัยการและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของ

การปราบปราบการทุจริตของ KPK ที่ผ่านมาถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2015 มีการเข้าไปสืบสวนสอบถึง 749 คดี ฟ้องร้องไป 385 คดี ดำเนินการไปกว่า 328 คดี

ในปัจจุบัน อันดับของอินโดนิเซียใน Corruption Perceptions Index มีอันดับที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน

  • ในปี 2014 อันดับอยู่ที่ 107 จาก 174 ประเทศ [อ้างอิง]
  • ในปี 2013 อันดับอยู่ที่ 114 จาก 175 ประเทศ [อ้างอิง]
  • ในปี 2012 อันดับอยู่ที่ 118 จาก 174 ประเทศ [อ้างอิง]

จุดอ่อนของ KPK และอินโดนิเซีย ในการเดินหน้าปราบปรามคอร์รัปชั่นต่อไป

  • KPK เองมีพนักงานน้อยเมื่อเทียบกับ cases ที่ประชาชนส่งมา
  • การร่วมมือจากองค์กรภาครัฐ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ตัว KPK เอง ฯลฯ)
  • กฎหมายต้านคอร์รัปชั่นยังไม่ครอบคลุมไปถึงภาคธุรกิจเอกชน
  • ถึงจะมีความอิสระ แต่ก็มีความพยายามแทรกแทรงจากภาครัฐ
  • ยังแก้ปัญหาที่ปลายน้ำเป็นส่วนมาก

ฯลฯ

ประชาธิปไตยกับคอร์รัปชั่น: Case Study จาก อินโดนิเซีย

จะเห็นได้ว่าหลังจากการล่มสลายของระบอบซูฮาร์โต้ เข้าสู่การกระจายอำนาจสู่ประชาชน มีการเลือกตั้ง มีกลไกในการตรวจสอบ พูดง่ายๆก็คือมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทำให้สถานการณ์ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่นมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ตัวองค์กร KPK เองก็ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ประชาชนยอมที่จะออกมาปกป้องตัวองค์กร เนื่องจากมีผลงานเชิงประจักษ์ และภาคประชาชนที่เข้มแข็งมากขึ้นทำให้การต่อสู้กับคอร์รัปชั่นนั้นมีอยู่ต่อไป

ลองหันกลับมาดูไทยซักนิดนึง

ลองย้อนกลับมาดูประเทศไทยนั้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นเราแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นอย่าง ภาคประชาสังคมเราเข้มแข็งแค่ไหน ปปช.มีผลงานเชิงประจักษ์มากมายเพียงใด รวมทั้งความยุติธรรมและความเสมอภาคในการตรวจสอบ โดยมิได้เลือกข้างใดข้างนึงในการตรวจสอบ ผมมองว่าปัญหาหนึ่งที่เป็นปัญหาสำคัญคือปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ทั้งไทยและอินโดนิเซียยังพบเจอแต่อินโดนิเซียมีความพยายามให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

ใน Corruption Perceptions Index ในปี 2014 เราได้คะแนน 38 คะแนน ในขณะที่อินโดนิเซียได้คะแนน 34 คะแนน ซึ่งมิได้ต่างกันมากนัก แต่อินโดนิเซียผมมองว่ามีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ไทยยังขึ้นๆลงๆอยู่แถวๆเนี้ยแหละครับ (แนะนำลองเข้าไปดูในเว็บ transparency international)

อยากให้ทุกท่านมองย้อนกลับมาที่ไทยในเวลานี้ว่าเราอยู่ในสภาวะอย่างไร

Reference

  • TDRI "ประสบการณ์การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น: บทเรียนเชิงสถาบันจากต่างประเทศ" ประจักษ์ ก้องกีรติ อ่าน PDF

  • "CORRUPTION PERCEPTIONS INDEX" Transparency International Link

  • "HOLDING THE HIGH GROUND WITH PUBLIC SUPPORT:
    INDONESIA’S ANTI-CORRUPTION COMMISSION DIGS IN, 2007 – 2011" Princeton University อ่าน PDF

  • "Statistik: Rekapitulasi Penindakan Pidana Korupsi" KPK
    Link

มองดูอินโดนิเซีย ในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยประชาธิปไตย
Share this