/ # Education / 4 min read

“พิธีกรรม” การเลือกตั้งในโรงเรียน

ในช่วงต้นภาคเรียนที่ 1 ของโรงเรียนทั้งหลาย ทั้งประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษา ก็จะมีบรรยากาศของ “การเลือกตั้งประธานนักเรียน”, “สัปดาห์ส่งเสริมประชาธิปไตย” (ซึ่งเวลาอื่นไม่ส่งเสริมหรือ?) ฯลฯ แต่ละโรงเรียนก็จะมีระบบ ชื่อที่ใช้ในการเรียนแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามโรงเรียนส่วนใหญ่จำเป็นต้องจัดกิจกรรมนี้ด้วยกันทั้งสิ้น

เท้าความตั้งแต่อนุบาล บางโรงเรียนก็เริ่มจัดให้มีการเลือกตั้งเล็กๆ ผมก็เป็นคนหนึ่งในคนที่เคยมีส่วนร่วมในกิจกรรมลักษณะนั้น โดยจะให้นักเรียนต่อแถวกันหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงลงหีบบัตร เป็นการจำลองระบบการเลือกตั้ง อันเป็นหน้าที่ของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ถัดมาถึงระดับประถมศึกษา กระบวนการเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นและลงรายละเอียดมากขึ้น โรงเรียนที่ผมเคยศึกษาอยู่จะให้นักเรียนชั้นปีที่ 6 เท่านั้นที่มีสิทธิสมัครเป็นผู้แทน หรือประธานนักเรียน นักเรียนทุกระดับมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง

จนสุดท้ายที่ผู้เขียนจะพูดถึงคือมัธยมศึกษา ในสถานศึกษาที่ผมศึกษาอยู่นั้นมีทั้งการเลือกตั้ง “ประธานนักเรียน”, “ประธานระดับชั้น” และ “ประธานสี” (ในงานกีฬาสี) นักเรียนทุกระดับก็จะได้ใช้สิทธิในการเลือกผู้แทนของตัวเองถึงสามครั้งด้วยกัน ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี บรรยากาศแลดูมีความเป็นประชาธิปไตยยิ่ง

แต่.... ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นดูดี ถูกต้อง และปราศจากปัญหาจริงหรือ?

อันที่จริงแล้ว ผมเห็นว่าการส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียนไทยส่วนมากมีปัญหาหลายอย่างด้วยกัน แต่ในที่นี้จะเน้นถึง “การเลือกตั้ง” เท่านั้น โดยมีหลายประเด็นปัญหาที่จะกล่าวถัดไป

ปัญหาแรกที่พบคือ ประธาน-สภานักเรียน ส่วนมากเท่าที่พบมา อยู่ภายใต้การควบคุมของ “ฝ่ายปกครอง” ซึ่งแบ่งออกมาเป็น “ฝ่ายกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย” ทั้งสิ้น ทำให้สภานักเรียนที่ได้รับเลือกจากนักเรียนนั้น ไม่มีสิทธิมีเสียงเท่าที่ควรในกิจกรรมของโรงเรียน ไม่ได้คานอำนาจกับฝ่ายอื่นๆ ในโรงเรียน และการกระทำกิจกรรมทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมของอาจารย์ ซึ่งถ้าโชคร้ายอาจารย์อาจไม่สนับสนุนนโยบายต่างๆ ที่ประสงค์จะกระทำ

เมื่ออยู่ภายใต้การควบคุมของ “ฝ่ายปกครอง” ของโรงเรียน ทำให้ประธาน-สภานักเรียนเป็นเพียงตัวแทนของนักเรียนเพียงแค่การเป็นตัวแทนทำกิจกรรมหรือพิธีต่างๆ ในโรงเรียน ไม่ได้เป็นตัวแทนที่จะส่งเสียงและร่วมกำหนดทิศทางของโรงเรียนแต่อย่างใด เป็นเพียงการเลือกคนที่เราจะ “ผลัก” ภาระในการปฏิบัติหน้าที่ต่างไปให้ ซึ่งในจุดนี้ถือว่าประสบความล้มเหลวในการจะปลูกฝังระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องการการมีส่วนร่วมของพลเมือง การตรวจสอบสอดส่องการทำงาน ไม่ใช่การ “ผลัก” หน้าที่ และยังแฝงความคิดที่ว่าด้วยประชาธิปไตยเป็นเพียงการเลือกตั้งให้แก่นักเรียน

อีกปัญหาที่สำคัญคือเรื่องการหาเสียง และนโยบาย บางทีเต็มไปด้วยความฉาบฉวย (ซึ่งอาจจะไม่ทุกที่) ความรีบเร่งที่ต้องการให้กระบวนการจบโดยไวจากผู้จัด บีบให้นโยบายออกมาจากผู้ลงสมัครซึ่งมีเวลาไม่มากทำได้จริงบ้าง ไม่ได้จริงบ้าง แต่กลับไม่มีความรับผิดชอบในภายหลังกับนโยบายที่ทำไม่ได้หลังจากได้รับเลือกแล้ว (ถึงจะเข้าใจว่าทำได้ยากเพราะอยู่ภายใต้การควบคุม) อีกทั้งยังมักไม่มีกิจกรรมที่จะดึงผู้มีสิทธิออกเสียงเข้าร่วม แสดงความคิดเห็นไปถึงตัวแทนอย่างจริงจัง การพูดคุยถึงผู้ลงสมัครในแต่ละบุคคล การใช้เหตุผลและการวิพากษ์วิจารณ์ต่อนโยบาย

กิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียนอย่างการเลือกตั้งในโรงเรียนเพื่อเลือกผู้แทนของนักเรียน บางทีกลับทำลายความเข้าใจและการรับรู้ถึงประชาธิปไตยของนักเรียนเอง กลายเป็นการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบที่ไม่ถูกต้องแก่นักเรียนซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ กิจกรรมจึงไม่บรรลุจึงเป้าประสงค์ที่วางไว้ได้ (หรืออาจจะบรรลุ?)

นักเรียนที่เป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ไม่เพียงต้องการความเข้าใจในระบบหรือกระบวนการการเลือกตั้งและการเมืองที่เป็นไปในประเทศตามที่สอนในวิชาสังคมศึกษาเท่านั้น แต่ยังต้องเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นรายรอบตัวเอง รู้จักการใช้สิทธิของตนเอง มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางในสังคม และใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องต่างๆ อย่างมีเหตุผล แต่ทว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นในโรงเรียนดังที่กล่าวมาข้างต้นช่วยส่งเสริมความเป็นพลเมืองให้เกิดขึ้นหรือไม่?

ปล. ทั้งนี้ไม่ได้เหมารวมแต่อย่างใด เขียนขึ้นโดยประสบการณ์ของผู้เขียนเท่านั้น หากท่านใดมีประสบการณ์ที่แตกต่างอย่างไรโปรดเล่าสู่กันฟัง

“พิธีกรรม” การเลือกตั้งในโรงเรียน
Share this