/ # Social & Politics / 14 min read

คู่มือการเลือกตั้งปี 2562 ฉบับมือใหม่ไม่เคยหย่อนบัตร พร้อมบทวิเคราะห์

7 ปีที่เว้นว่างไป สุดท้ายแล้วในต้นปี 2562 เราก็จะได้เลือกตั้ง เลือกผู้นำของเรากัน แม้ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นมาก่อนแล้วอย่างวันเลือกตั้งดันไปชนกับวันสอบ GAT-PAT ของนักเรียนม.6 ที่ต้องเข้ามหาวิทยาลัย จนถึงขนาดต้องเลื่อนวันสอบเข้ามาหนึ่งอาทิตย์ เพื่อให้กลุ่ม ‘คนรุ่นใหม่’ ได้มาเลือกตั้งกัน

6,426,014 คน หรือประมาณ 6.5 ล้านคน คือจำนวน คนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกจากสถิติ ซึ่งจำนวนคนทั้งหมดนี้กำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไว้ในมือถึงประมาณ 61 คนเลยทีเดียว ดังนั้นแล้วการเลือกตั้งครั้งนี้–สำหรับคนไม่เคยเลือก–จึงถือเป็นการส่งเสียงผ่านระบบที่ดังมากครั้งหนึ่ง เพราะมันสามารถเปลี่ยนผลการเลือกตั้ง และกำหนดอนาคตประเทศเลยทีเดียว

คนที่ไม่เคยเลือกตั้งมาก่อน ก็อาจจะงง ๆ กับระบบการเลือกตั้งต่าง ๆ ไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไร ในบทความนี้จึงได้รวมรวมข้อมูลมาให้เป็น ‘คู่มือ’ ช่วยการตัดสินใจ พร้อมบทวิเคราะห์และอินโฟกราฟฟิคสรุปไว้ด้านล่างแล้ว (สามารถกดเพื่อข้ามไปได้) ไปอ่านกันเลย

ข้อที่ควรรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งปี 2562

นอกจากจะต้องตรวจสอบคูหาเลือกตั้งที่ตัวเองต้องไป พร้อมไม่ลืมพกบัตรประชาชนติดตัว

พรรคเดียวกัน แต่เบอร์ไม่ตรงกัน

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้ลงสมัครส.ส. พรรคเดียวกัน ในแต่ละเขตพื้นที่จะได้รับหมายเลขประจำตัวผู้สมัครต่างกันเช่น ผู้ลงสมัครพรรค A ได้เลข 10 ทว่าในเขตการเลือกตั้งอื่น ผู้ลงสมัครพรรค A อีกคนได้ก็จะได้หมายเลขอื่นที่ไม่ใช่ 10

number

เหตุผลที่ให้ไว้ คือ เพื่อสนับสนุนให้คนแต่ละพื้นที่ต้องสนใจและพิจารณาเลือกจากคุณสมบัติและความเหมาะสมของผู้สมัครมากขึ้น ไม่ได้สนใจแค่พรรคหรือจำ ๆ เขามาแล้วมากา ในขณะที่อีกด้านตั้งข้อสังเกตว่าอาจก่อให้เกิดความมึนงงแก่ผู้ลงคะแนนเสียงได้ ดังนั้นแล้ว ถ้าจะไปโฆษณาพรรคที่ตัวเองอยากให้เพื่อนเลือกก็ต้องระวังกันให้ดี ตรวจสอบหมายเลขของแต่ละพรรคที่คูหาจะชัวร์ที่สุด

บัตรใบเดียว แต่เลือกสอง จากระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม”

ก่อนอื่นเลย เราต้องเข้าใจว่าส.ส. ที่จะนั่งกันอยู่ในสภา 500 คน (ตอนมีเลือกตั้ง) มีที่มา 2 ประเภท ได้แก่

  1. ส.ส.แบ่งเขต - เป็นผู้แทนที่ลงสมัครตามเขตพื้นที่ที่กำหนด โดยในครั้งนี้จะมีทั้งหมด 350 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ ผู้ชนะแต่ละเขตก็จะได้เป็นส.ส. ดังนั้นประเภทนี้ก็จะมี 350 คน
  2. ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) - เป็นผู้แทนที่แต่ละพรรค จะลิสต์รายชื่อเรียงลำดับมาไม่เกิน 150 คนแล้วส่งให้ กกต.จากนั้นหลังการเลือกตั้ง ผลคะแนนก็จะบอกจำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคจะได้สำหรับประเภทนี้ โดยมีจำนวน 150 คน

แต่ก่อนเรามีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบสำหรับทั้ง 2 ประเภท กล่าวคือ สมมติว่าใครรักพรรค A แต่ชอบผู้สมัครพรรค B ในเขตพื้นที่ตัวเอง ก็อาจจะกาให้พรรค A ในแบบบัญชีรายชื่อ และพรรค B ในแบบแบ่งเขต การคำนวนคะแนนก็จะค่อนข้างตรงไปตรงมา

จากรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 เรามีระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ มาในชื่อระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” หรือในชื่อภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการว่า Mixed Member Apportionment system (MMA) ซึ่งหวังว่าทุกคะแนนเสียงจะถูกทำให้มีความหมายขึ้นมา และทำให้บัตรเลือกตั้งของเรา จะมีเพียง ใบเดียว เท่านั้น ใครที่คิดว่าจะปวดหัวกับสูตรคำนวนนี้ ก็กดเพื่อข้ามสูตรนี้ไปได้เลย

ระบบทำงานอย่างไร–เมื่อมีบัตรใบเดียวแล้ว ก็จะมีคะแนนแค่ชุดเดียวมาให้คำนวน สมมติว่าทั้งประเทศมีผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมด 40,000,000 คน

ขั้นตอนแรกเลยให้นำจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมดลบด้วยจำนวน Vote No (สมมติว่ามี 5,000,000 คน) ก็จะเหลือคะแนนที่ผู้มาใช้สิทธิ์ลงให้ผู้ลงสมัครตามเขตต่าง ๆ 35,000,000 คน

voteno

ต่อมาให้นำจำนวนนี้ หารกับจำนวนส.ส. ในรัฐสภาจำนวน 500 คน เราก็จะรู้ว่าส.ส. หนึ่งคนต่อคะแนนเสียงจะมีเท่าไหร่ ในการยกตัวอย่างนี้ 35,000,000 หาร 5,000,000 ก็จะเท่ากับ 70,000 คน

rep_amount

จำนวนนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อหาว่า พรรค ๆ หนึ่งจะต้องได้ส.ส. ทั้งหมดเท่าไหร่ สมมติพรรค A ได้คะแนนเสียงทั้งประเทศทั้งหมด 15,000,000 คน ก็นำจำนวนนี้หาร 70,000 คนไป เท่ากับประมาณ 214 คน ซึ่งเป็นจำนวนส.ส. ที่พรรคนี้พึงมี หรือต้องได้จากส.ส. ทั้งสองประเภท

partylist

จำนวน 214 นี้จะนำมาถูกหักลบกับจำนวนส.ส.เขตของพรรคนี้ที่ชนะการเลือกตั้งในเขตของตัวเอง สมมติว่าพรรค A ชนะทั้งหมด 180 เขต ก็จะมีส.ส. ในมือแล้ว 180 ดังนั้นเมื่อลบกับจำนวนส.ส. ที่ตัวเองต้องได้จากสูตรแล้ว จะเท่ากับ 34 คน ส่วนนี้ก็จะมาถูกเติมจากส.ส. บัญชีรายชื่อนั่นเอง

การหาจำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคควรได้ จากระบบการเลือกตั้งใบเดียว ที่ดูจะซับซ้อนอยู่บ้างของไทย ก็จบลงเพียงเท่านี้

ที่มานายกรัฐมนตรี มีส.ว.จากคสช.มาร่วมโหวตด้วย

ตอนนี้เรารู้แล้วว่ารัฐสภามีส.ส. 500 คนมาจากการเลือกตั้งผ่านระบบที่ชื่อ “จัดสรรปันส่วนผสม” อีกกลุ่มที่สำคัญในสภาคือ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีจำนวน 250 คน ซึ่งทั้ง ส.ส. และส.ว. จะมีสิทธิลงคะแนนเสียงให้นายกรัฐมนตรี จากรายชื่อที่พรรคการเมืองส่งมาด้วย

นี่หมายความว่าอย่างไร–ทั้งหมด 750 คนจะมาร่วมลงคะแนนเสียง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 แคนดิเดตของแต่ละพรรคต้องการเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 376 เสียงขึ้นไป ถึงจะได้เป็นนายกฯ ได้นั่นเอง

paliament_members

ส่วนที่มาของส.ว.นั้นได้แก่

  1. คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาที่แต่งตั้งขึ้นโดย คสช. เพื่อคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจำนวนไม่เกิน 400 คน โดยแต่ละคนจะต้องสมัครและผ่านกระบวนการมาตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด ถึงระดับประเทศ และเสนอ คสช. เพื่อคัดเลือกต่อไปเพื่อคัดเลือกให้เหลือ 194 คน
  2. ส.ว. 6 คนจะเป็นโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
  3. ส.ว. 50 คน จากกลุ่มอาชีพ 10 กลุ่มที่สมัครเข้ามาแล้ว “เลือกกันเอง” ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด ถึงประเทศจนเหลือ 200 คนแล้วส่งให้ คสช. เลือกต่อไป

ดังนั้นจึงมีผู้แสดงความกังวลว่า ถ้าส.ว. มีความเป็นปึกแผ่น การที่พวกเขาจะต้องการให้คน ๆ หนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะใช้เพียงแค่ 126 เสียงเท่านั้นเอง ในทางกลับกันถ้าพรรคที่ส.ว. ไม่ได้เห็นด้วยอยากจะชนะ ก็ต้องใช้ ส.ส. ถึง 376 เลยทีเดียว

Vote No ก็มีความหมายเหมือนกัน

ปกติแล้วหลายคนอาจจะไม่ได้ชอบพรรคการเมืองใด หรือผู้สมัครในเขตพื้นที่ของเราเป็นพิเศษ จนไม่ไปใช้สิทธิ์ออกเสียง เพราะเห็นว่าการไปกา “ไม่ลงคะแนนเสียง” ดูจะเสียเวลา และไม่ได้มีผลอะไรต่อการเลือกตั้ง

ทว่าในครั้งนี้ คะแนน Vote No ได้ถูกให้ความสำคัญขึ้นมา ถ้าหากคะแนน Vote No ในเขตใดสูงกว่าคะแนนเสียงของผู้สมัครส.ส. ในเขตนั้น จะนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ที่ผู้สมัครเดิมทุกคนจะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงสมัครอีกครั้ง เพราะเห็นว่าเสียงของประชาชนไม่ได้ต้องการส.ส. ชุดนี้

ดังนั้นแล้ว ถ้ายังลังเลว่าจะออกไปเลือกตั้งเพราะไม่มีใครอยากให้เป็น ก็ขอให้ไปใช้สิทธิดู เพราะเสียงของเราจะถูกรับฟังเช่นกัน

นายกฯ คนนอก คืออะไร? มาจากไหน?

ตามสื่อต่าง ๆ มีการใช้คำว่า “นายกฯ คนนอก” อยู่บ่อยครั้ง เราที่เป็นเด็กที่เกิดหลังปี 2540 อาจจะงง ๆ ว่าคำนี้หมายถึงอะไร เพราะนายกฯ ก็จะต้องมาจากการลงคะแนนเสียงกันในรัฐสภาอยู่แล้วไม่ใช่หรือ

ความหมายของคำนี้จริง ๆ แล้วก็ตรงตัว คือ บุคคลที่พรรคการเมืองไม่ได้ส่งบัญชีรายชื่อเข้ามา และไม่จำเป็นต้องอยู่ในสภา ไม่จำเป็นต้องได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง เพียงแค่ไม่ได้ขาดคุณสมบัติอะไร หากมีคนเสนอชื่อเข้าสภาแล้วคะแนนโหวตเกินก็เป็นนายกฯ ได้

article272

ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เปิดช่องให้ ส.ส. จำนวน 375 คน สามารถเข้าชื่อเสนอให้ไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ ตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอขึ้นมาได้ แล้วให้ ส.ส. และส.ว. ลงคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คนเพื่อลงมติอนุมัติเปิดช่องให้ ส.ส. จำนวน 50 คนในการเสนอชื่อบุคคลนึง ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส. ขึ้นมาในสภาได้

สุดท้าย ก็จะกลับไปสู่กระบวนการเดิม คือต้องการ 376 เสียง เพื่อเป็นนายกคนต่อไป มีหลายคนเห็นว่าช่องทางนี้อาจเปิดโอกาสคนที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเลยขึ้นมาเป็นนายกได้ แต่อีกหลายคนก็เห็นว่าอาจจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก เว้นแต่รัฐสภาจะถึงทางตัน ไม่มีใครสามารถขึ้นมาเป็นนายกฯ ได้เลยในบรรดาส.ส.

ตื่นบ่ายก็ยังทัน! คูหาปิดห้าโมง & ลาก่อนป้ายหาเสียงตามเสาไฟฟ้า

น่าจะเป็นความโชคดีของมนุษย์ตีห้า คือ คูหาเลือกตั้งได้ขยายเวลาปิด จากแต่ก่อนปิด 15:00 น. เป็น 17.00 น. หรือเพิ่มขึ้นมาถึง 2 ชั่วโมง โดยหวังว่าจะสามารถช่วยทำให้คนออกไปใช้สิทธิกันมากขึ้น

อีกเรื่องเลยคือ เป็นสิ่งที่คลาสสิคมากในสมัยก่อนที่ยังมีการเลือกตั้งหรือการหาเสียงเป็นปกติ เราก็จะเห็นป้ายหาเสียงติดตามต้นไม้ หรือเสาไฟฟ้าข้างถนน โชว์หน้าตาของผู้สมัคร (บางท่านถึงกับใส่บิ๊กอาย) พรรคและเบอร์ของเขา แต่ในตอนนี้ ทางกกต.ออกมาบอกว่า ป้ายหาเสียงเนี่ย อาจจะมาติดรวมกันเลยที่เดียวสำหรับอานาบริเวรหนึ่ง ดังนั้นแล้วเราอาจจะไม่เห็นร้านอาหารตามสั่งข้างทาง เอาป้ายหาเสียงไปมุงเป็นหลังคาได้อีกต่อไป

หนุ่มสาวอย่างพวกเราเปลี่ยนอนาคตประเทศได้!

ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (2560) จาก iLawบอกเราว่ามีผู้คนกว่า 6,426,014 คนที่มีสิทธิที่ลงคะแนนเสียงได้ แต่ยังไม่เคยใช้สิทธิเลือกตั้งเลย เป็นกลุ่มผู้ที่เกิดระหว่างปี 2537-2544 จำนวนมีมากขนาดนี้จากการที่เราไม่ได้เลือกตั้งกันมา 7 ปีแล้ว (นับตั้งแต่ปี 54) ดังนั้น เสียงกลุ่มนี้ จึงเป็นเสียงของคนรุ่นใหม่ที่มีพลัง เป็นอีกปัจจัยกำหนดทิศทางอนาคตการเมืองไทยต่อไป

เมื่อนำตัวเลขมาคำนวนโดยใช้สูตรจากระบบ MMA ที่ได้อธิบายไปแล้ว โดยใช้จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 52,457,500 คน มาหารด้วย 500 (จำนวนส.ส.ในสภา) ก็จะได้ตัวเลข 104,915 ซึ่งเป็นจำนวนคะแนนต่อส.ส. หนึ่งคน

แล้วถ้านำตัวเลขนี้ไปหารกับจำนวนผู้เลือกตั้งครั้งแรกทั้งหมด 6,426,014 คน จะเท่ากับ 61.24 หรือประมาณ 61 ส.ส. ที่จะได้ไปนั่งในสภาจากเสียงคนเลือกตั้งครั้งแรกนี้ แม้ว่าตัวเลขนี้จะไม่ได้ตัดคนที่ติดธุระ ไม่สะดวก ติดสอบต่าง ๆ ไปก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็นถึงพลังคนรุ่นใหม่ในการเลือกตั้ง

ดังนั้นแล้วการเลือกตั้งครั้งนี้ คนที่ไม่เคยโหวตอย่างเรา ๆ จึงเป็นส่วนสำคัญมากในการเลือกตั้ง แต่ละพรรคก็จะหาวิธีโปรโมตสู่คนรุ่นใหม่ หรือออกนโยบายเอาใจคนรุ่นใหม่นั่นเอง

วิเคราะห์การเลือกตั้ง : ระบบใหม่-คสช.-อนาคตใหม่

แตกแบ่งพันเป็นแบ่งร้อย จากระบบการเลือกตั้งใหม่

เป็นประโยคใหม่ที่ดูแล้วอาจจะคุ้นหูกันมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่สื่อเริ่มใช้คำนี้เรียกปรากฏการณ์ที่นักการเมืองจากพรรคใหญ่ ๆ ลาออก อย่างเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ มาตั้งพรรคเล็ก ๆ ชื่อคล้ายกันเต็มไปหมด เช่น ไทยรักษาชาติ, เพื่อธรรม, เพื่อชาติ และประชาชาติ ที่ดูจะอยู่ในกลุ่มพรรคเพื่อไทย หรือจะเป็น ประชาชนปฏิรูป, รวมพลังประชาชาติไทย, พลังประชารัฐ และพลังธรรมใหม่ ที่ออกตัวสนับสนุน คสช.

นักการเมืองทำอย่างนี้ไปเพื่ออะไร?–จากระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า MMA มีแนวโน้มทำให้พรรคใหญ่ที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด อาจได้จำนวนส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ลดลง พูดง่าย ๆ ก็คือได้ส.ส.น้อยลงนั่นเอง แต่พรรคขนาดกลาง-เล็กจะได้จำนวนส.ส.มากขึ้นจากระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) นั่นเอง

เลยเกิดปรากฏการณ์ แตกแบ่งพันเป็นแบ่งร้อย ให้พวกเดียวกันไปเก็บคะแนนตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเก็บส.ส.ที่จะหายไปจากระบบบัญชีรายชื่อให้ได้มากที่สุดนั่นเอง โดยส.ส. ที่ออกไปตั้งพรรค ก็มักจะเป็นคนที่มีความนิยมหรือมีอิทธิพลอยู่แล้วในพื้นที่

ข้อกังวลอีกอย่าง คือ ระบบการเลือกตั้งใหม่ที่ การเลือกตั้งในเขตพื้นที่กำหนดทุกอย่าง อาจส่งเสริมให้เกิดการซื้อสิทธิ ขายเสียง ใช้อิทธิพลในพื้นที่มากขึ้น เพราะทุกกลุ่มก้อนต้องชนะการเลือกตั้งในเขตพื้นที่ให้ได้ ไม่มีส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แยกออกมาอีกแล้ว เลยต้องได้คะแนนให้ได้มากที่สุดนั่นเอง

หากใครสนใจเรื่องการคำนวนคะแนน รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ได้นำคะแนนเสียงในปี 54 มาใช้คำนวนผ่านระบบการเลือกตั้งใหม่แล้ว และพบความเป็นไปได้ที่พรรคใหญ่จะได้คะแนนน้อยลงอย่างที่กล่าวไป

ตกลงแล้วบิ๊กตู่ (หรือพรรคพวก) จะได้กลับมาเป็นรัฐบาลหรือเปล่า?

เป็นข้อสงสัยที่หลายคนอาจตั้งคำถาม หลังจากเห็นว่าส.ว. ทั้งหมด โดยภาพรวมจะถูกสกรีนโดย คสช. เข้ามา ก็อาจทำให้พวกเขามีแนวโน้มจะสนับสนุนฝั่งคสช. ซึ่งแน่นอนว่าเป็นไปได้ และคสช. อาจต้องการเพียงแค่ 126 เสียงจริง ๆ รวมไปถึงการหาเสียงผ่านนโยบาย ที่รัฐบาล คสช. มีนโยบายนำเม็ดเงินลงไปสู่ท้องถิ่นต่าง ๆ และมีพรรคน้อยผุดออกมาหลายพรรคที่พร้อมจะเก็บส.ส.ให้ คสช.

สรุป คือ มีโอกาสพอสมควร ทว่าสิ่งที่เราไม่สามารถแน่ใจได้ คือ

  1. ส.ว. จะเป็นปึกแผ่นอย่างที่หลายคนที่ไม่สนับสนุน คสช. กลัวจริงหรือ?
  2. แรงเสียดทานที่บิ๊กตู่หรือพรรคพวกจะขึ้นมาเป็นนายกฯ (ผ่านการเสนอบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง) จะมีมากแค่ไหน?
  3. หากบิ๊กตู่จะเข้ามาในฐานะนายกฯ คนนอก ก็ดูจะยากขึ้น เพราะต้องการส.ส. 250 คนสนับสนุน (สมมติว่าส.ว.ยกมืออนุมัติหมด) เพื่อยกมือลงมติ 2 ใน 3 จากรัฐสภาทั้งหมด

จนทำให้หลายคนเสนอ Strategic Vote หรือการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ อย่างการลงคะแนนให้กับพรรค ๆ เดียวเพื่อให้ชนะอย่างท้วมท้น เพื่อยับยั้งกระบวนการนี้ของคสช. เลยทีเดียว

อนาคตใหม่ขวัญใจ ‘คนรุ่นใหม่’ ?

พรรคการเมืองมาใหม่ที่ดูจะร้อนแรงมากที่สุดในขณะที่อย่าง พรรคอนาคตใหม่ก็โปรโมตและจับกลุ่ม ‘คนรุ่นใหม่’ มาโดยตลอด ตามกระแสที่เกิดขึ้นในทั่วโลก ทว่า จากดราม่าหรือประเด็นร้อนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จากทั้งคำพูดในหลายครั้งของแกนนำพรรคเอง หรือดราม่าที่ไปเกี่ยวพันกับเฌอปราง BNK48 เองก็ดี อาจทำให้ข้อสงสัยของบางคนเริ่มมีน้ำหนักขึ้น อย่าง พรรคอนาคตใหม่จะสามารถเป็น ‘ตัวแทน’ ของคนรุ่นใหม่ได้จริงหรือ?

หลายคนอาจรู้สึกว่านโยบายของพรรคอนาคตใหม่ ดูจะมีความขายฝัน จับต้องไม่ค่อยได้อยู่บ้าง เลยยังยึดโยงไม่ได้เต็มที่ อาจจะเพราะการที่คสช.ยังไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองหาเสียง แต่ภาพความโลกสวยอาจเป็นภาพจำติดกับกลุ่มคนรุ่นใหม่หลายคนไปแล้ว พร้อมกับหลาย ๆ แนวทางที่คนรุ่นใหม่ไม่ได้เก็ตไปด้วย เว้นแต่เป็นคนที่สนใจการเมืองมาก ๆ เป็นทุนเดิม

จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ‘คนรุ่นใหม่’ จะให้ใครเป็นตัวแทนของตัวเองในระบอบรัฐสภาครั้งนี้

ส่วนอีกกลุ่มที่น่าจะจับได้อย่าง กลุ่มคนที่ไม่ชอบ คสช. แต่เบื่อเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ก็ประกาศชัดว่าจะไม่เอาการสืบทอดอำนาจของ คสช. เองก็ดูจะได้ใจคนไปไม่น้อย พ่วงกับภาพลักษณ์ที่ดูมีวิสัยทัศน์ทันสมัยกว่าหากเทียบกับอีกคู่แข่งอย่างพรรคของพลตำรวจเอก เสรีพิสุทธิ์ เตมียะเวส แต่จากดราม่าหลายดราม่า เช่นล่าสุดเรื่องของอ.ปวินและเฌอปราง ที่มีคนพยายามเชื่อมโยงตัวอ.ปวินเข้ากับพรรค จนทำให้พรรคต้องออกมาแสดงจุดยืนที่อาจไม่เข้าหูฝ่ายต่อต้าน คสช. หลาย ๆ คนอย่างกลุ่มนี้ จนอาจเสียฐานคะแนนไปได้เช่นกัน


สุดท้ายแล้ว สิ่งที่อยากฝากคือ เสียงของทุกคนมีพลัง การเลือกตั้งจะเปลี่ยนทิศทางการเมืองไทยไปในทิศทางไหน ก็อยู่ที่การออกไปรักษาสิทธิของท่านในคูหา และผ่านปลายปากกาของท่านที่จะกาให้คะแนนใคร จากข้อมูลที่นำมาคิด วิเคราะห์ และดูนโยบายของแต่ละพรรคอย่างถี่ถ้วนแล้ว

อินโฟกราฟฟิค (Infographic) การเลือกตั้งปี 62 แบบสรุป

election_2019_info

คู่มือการเลือกตั้งปี 2562 ฉบับมือใหม่ไม่เคยหย่อนบัตร พร้อมบทวิเคราะห์
Share this