/ # Social & Politics / 8 min read

เพลงหน้าที่ของเด็ก ถึง ค่านิยม 12 ประการ บอกอะไรเราบ้าง อดีต - ปัจจุบัน - อนาคต

สวัสดีครับ

เนื่องในเทศกาลวันเด็กจึงคิดที่จะเขียนบทความซักบทความนึงที่เกี่ยวข้องกับ "เด็ก" ในฐานะที่ผู้เขียนก็ยังมิได้บรรลุนิติภาวะเช่นกัน บทความนี้จะกล่าวถึง เพลง"หน้าที่ของเด็ก" จนกระทั่งปัจจุบันที่มี "ค่านิยม 12 ประการ" ออกมา ว่าสิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนอะไรถึงสังคมไทยตั้งแต่ 50 ปีที่แล้วถึงปัจจุบัน

ก็คงต้องบอกว่าตัวผู้เขียนเองนั้นก็ไม่ค่อยมีประสบการณ์อันเป็นชิ้นเป็นอันในวันเด็กนัก ตื่นมาก็นั่งดูการ์ตูน กินข้าว เล่นกับเพื่อน เข้าบ้าน อาบน้ำ และก็นอน ฮาๆ

บทความนี้จะมุ่งถึงเด็กเป็นสำคัญนะครับ

ประวัติเพลง "หน้าที่ของเด็ก"

เด็กเอ๋ยเด็กดี
ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน

เด็กเอ๋ยเด็กดี
ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน

หนึ่ง นับถือศาสนา

สอง รักษาธรรมเนียมมั่น

สาม เชื่อพ่อแม่ครูอาจารย์

สี่ วาจานั้นต้องสุภาพอ่อนหวาน

ห้า ยึดมั่นกตัญญู

หก เป็นผู้รู้รักการงาน

เจ็ด ต้องศึกษาให้เชี่ยวชาญ
ต้องมานะบากบั่น ไม่เกียจไม่คร้าน

แปด รู้จักออมประหยัด

เก้า ต้องซื่อสัตย์ตลอดกาล

น้ำใจนักกีฬากล้าหาญ
ให้เหมาะกับกาลสมัยชาติพัฒนา

สิบ ทำตนให้เป็นประโยชน์
รู้บาปบุญคุณโทษ สมบัติชาติต้องรักษา

เด็กสมัยชาติพัฒนา
จะเป็นเด็กที่พาชาติไทยเจริญ


เนื้อร้องโดย ชอุ่ม ปัญจพรรค์ และทำนองโดย เอื้อ สุนทรสนาน

คงต้องเริ่มจากประวัติก่อน ยอมรับว่าพยายามหาแหล่งอ้างอิงดีๆ แต่ไม่ค่อยมี จากการสืบค้นทราบว่าเพลงนี้ถูกแต่งเมื่อปีใดก็ไม่ทราบได้ เพียงแต่ทราบว่าแต่งขึ้นสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เนื่องจากในปี 2498 UN ได้ประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยหน้าที่ของเด็ก เชิญชวนให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมจัดงานวันเด็ก

ดูเนื้อหาของเพลง "หน้าที่ของเด็ก"

เนื้อหาของเพลงนี้มุ่งเน้นและผูกขาดในการบอกว่าเด็กควรทำอะไร หรือไม่ควรทำอะไร โดยมิได้อ้างอิงถึงเหตุผลหรือตรรกะใดๆเลย ดังที่จะเห็นได้จากข้อแรก

หนึ่งนับถือศาสนา

เปิดมาข้อแรกก็แสดงได้เห็นอย่างเด่นชัดเลยว่าเพลงนี้ล้าสมัยและไม่เป็นเหตุเป็นผลอย่างแท้จริง การเป็นเด็กที่ดีของสังคมและประเทศชาติจำเป็นต้องนับถือศาสนาอย่างงั้นหรือ?

พูดถึงเรื่องศาสนา ศาสนาที่คนไทยนับถือมากที่สุดก็คือพุทธใช่ไหมครับ ในศาสนาพุทธยังมีหลัก "กาลามสูตร" ที่มุ่งสอนให้คนไม่เชื่ออะไรหรือใครง่ายๆ แม้ข้อมูลนั้นอาจจะมีจากอาจารย์หรือผู้ที่ดูมีความน่าเชื่อถือมากก็ตาม และสอนให้ใช้หลักเหตุและผลอีกต่างหาก ดังนั้นทำไมเราต้องเชื่อว่าตัวค่านิยมนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดกัน

เมื่ออ่านหรือฟังตัวเพลงจบอาจจะไม่ค่อยรู้สึกแปลกใจหรือมีปัญหาเท่าไหร่สำหรับบางคน เพราะตัวเนื้อเพลงนั้นก็มิได้กล่าวอะไรที่แย่นัก อาจจะเป็นสิ่งที่ดีเสียด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ขาดหายไปจากบทเพลงนี้คือการนำเหตุและผลเข้ามาประกอบ ความเป็นเด็กดี/หน้าที่ของเด็กถูกสร้างและผูกขาดโดยรัฐในสมัยนั้น

แต่เมื่อดูบริบทในสมัยนั้นก็ไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่นักที่จะมีเพลงแบบนี้ขึ้นมา เนื่องจากเป็นช่วงของการสร้างชาติ จอมพลแปลก พิบูลสงครามเองก็ดำเนินนโยบายชาตินิยม เพื่อที่สร้างอัตลักษณ์ รวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นอย่างรวดเร็วที่สุด

ผู้เขียนขอเรียกโมเดลแบบนี้ว่า "โมเดลการผูกขาดความดีโดยรัฐ"

รู้จักกับ "ค่านิยม 12 ประการ" การผูกขาดความดีโดยรัฐในปัจจุบัน

ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ตามนโยบายของ คสช.

  1. มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
  2. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม
  3. กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์
  4. ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรง และทางอ้อม
  5. รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม
  6. มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน
  7. เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง
  8. มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่
  9. มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  10. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้ ถ้าเหลือก็แจกจ่ายจำหน่าย และพร้อมที่จะขยายกิจการเมื่อมีความพร้อม เมื่อมีภูมิคุ้มกันที่ดี
  11. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ หรือกิเลส มีความละอาย เกรงกลัวต่อบาป ตามหลักของศาสนา ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ หรือกิเลส มีความละอาย เกรงกลัวต่อบาป
  12. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม และของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง

สร้างขึ้นมาก็ตอนที่ คสช. เข้ามานั้นแหละครับ อันนี้คงไม่ต้องพิมพ์ให้เมื่อยให้มากความนัก

ดูเนื้อหาของ "ค่านิยม 12 ประการ"

เนื่องจากใช้โมเดลเดียวกัน แค่เอามา renovate ใหม่ จึงมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันก็คือ ไม่มีเหตุและผลอย่างชัดเจน เพียงแค่บอกว่าคนดีควรเป็นอย่างไร แต่ครั้งนี้จะใช้ภาษาให้เยอะขึ้น อธิบายมากขึ้น ส่วนนึงคงเพราะว่าไม่ได้แต่งออกมาเป็นเพลง

ในเนื้อหาสอดแทรกความเป็นชาตินิยมในยุคสร้างชาติเข้าไป ดูได้จากข้อแรก

  1. มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ซึ่งเป็นชาตินิยมในรูปแบบที่ค่อนข้างล้าสมัยและมีปัญหาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งผู้เขียนมองว่าประสิทธิภาพคละแบบโมเดลกับชาตินิยมแบบจีนที่สามารถคงอยู่ในโลกาภิวัฒน์ได้

และเมื่อผู้เขียนอ่านครั้งแรก ค่อนข้างวิตกและตั้งข้อสงสัยกับนิยามของคำหลายๆคำในตัวค่านิยมนี้ โดยเฉพาะคำว่า "ที่ดีงาม", "ที่ถูกต้อง" ทั้งหลาย หรือแม้แต่ "ประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

  1. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม
  1. เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง
    ฯลฯ

อะไรคือมีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงาม? อุดมการณ์ที่ตรงกับความต้องการของรัฐ? ประชาธิปไตยที่ถูกต้อง? ประชาธิปไตยแบบไหน? แบบประยุทธ์เหรอ แบบสหรัฐ แบบเกาหลีเหนือ แบบญี่ปุ่น ?

เพลงหน้าที่ของเด็ก - ค่านิยม 12 ประการ ความเหมือนที่แตกต่าง

จะเห็นได้ว่าปัญหาของเพลงหน้าที่ของเด็ก และ ค่านิยม 12 ประการ มีความคล้ายคลึงกันอย่างเห็นไดัชัด ปัญหาหลักเลยก็คือ "การผูกขาดความดี" เขาพยายามบอกว่าความดีนั้นคืออะไร คนทำอย่างไรแล้วจึงเป็นคนดี ไม่เกิดการตั้งคำถาม พยายามแบ่งออกอย่างชัดเจนว่า ดี-เลว ซึ่งมันขัดต่อธรรมชาติ ไม่มีอะไรดี 100% ไม่มีอะไรเลว 100% คนมีพลวัตในด้านสังคมและวัฒนธรรมที่จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขนาดศีลธรรมในแต่ละศาสนายังต่างกันเลย เหตุใดกันถึงจะทำให้คนเหมือนกันทุกๆประการ ความถูกต้องนั้นมีหลายชุดหลายแบบของแต่ละคน ที่อยู่ในขอบเขตของกฏหมาย สิทธิ เสรีภาพ

ประเด็นสำคัญสำหรับผู้เขียนคือเรื่องศาสนา ทั้งสองอย่างนั้นพยายามชี้ว่าศาสนาเป็นตัวที่บอกเราได้ว่าอะไรคือดี - ชั่ว และคนดีต้องนับถือศาสนา ซึ่งมันไม่จำเป็นเลยที่คนที่เคารพในสิทธิ เสรีภาพ เคารพกฏหมาย นั้นจะต้องมีศาสนา ซึ่งไม่จำเป็นเลย

สิ่งที่ขาดหายไป

สิ่งที่ขาดไปในทั้งสองอย่างสำหรับผู้เขียน สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นมากถึงมากที่สุดที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและไม่ฆ่าฟันกัน คือ การเคารพสิทธิ เสรีภาพของผู้อื่นและเคารพความเห็นที่แตกต่างกัน เพราะปัจจุบันโลกนั้นเปิดกว้างขึ้นมาก เรามีข้อมูลข่าวสารมากมาย คนเราก็มาจากสภาพสังคมที่แตกต่างกัน ดังนั้นความคิดจึงไม่เหมือนกัน แต่กลับไม่ปรากฏขึ้นอย่างเห็นเด่นชัดในทั้งสองอย่างเลย อาจจะมีปรากฏบ้างในการเคารพกฏหมาย

การปลูกฝังค่านิยมแบบนี้อาจเป็นปัญหาในระยะยาว

ผู้เขียนมองว่าการสอนรูปแบบนี้จะเป็นปัญหาในระยะยาว ถึงแม้ว่าตัวเนื้อหาสาระของมันอาจจะถูกต้องหรือเป็นประโยชน์ก็ตาม เนื่องจากรูปแบบไม่ได้เอื้อในการคิด วิเคราะห์ ว่าสิ่งได้ถูกหรือสิ่งใดผิด เอาง่ายๆคือไม่ได้สอนวิธีคิด สอนแค่ว่าทำแบบไหนถึงถูก ถูกนั้นก็ถูกแบบเดียวอีก

ในขณะที่โลกปัจจุบันก้าวไปอย่างรวดเร็ว บริบทก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ค่านิยมมิได้เปลี่ยนตามสิ่งที่เปลี่ยนไป ถ้ามีสิ่งใหม่ เงื่อนไขอะไรใหม่ๆเกิดขึ้นมา เราก็อาจจะมิสามารถรู้ได้ว่าควรทำอะไรถึงจะถูกต้องกันแน่

เอาง่ายการปลูกฝังแบบนี้ "เชย" ในการใช้ชีวิตและการเรียนศตวรรษที่ 21 มากๆ

สิ่งเหล่านี้ควรหายไปจากสังคม - ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน

สิ่งที่ผมอยากจะเสนอคือเราควรทำให้การปลูกฝังอะไรแบบนี้หายไปโดยเฉพาะในเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ และเปลี่ยนเป็นการสอนวิธีคิดว่าอะไรถูกหรือผิด หรือก็คือต้องการปลูกฝังวิธีการแยกแยะ ถูก - ผิด อย่างมีเหตุผลหลักการ มีตรรกะ เอาง่ายๆก็คือ philosophy และเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความคิดเห็นของผู้อื่น

การทำอย่างนี้ผมมองว่าเป็นการทำให้เรานั้นก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง คนจะมีวุฒิภาวะมากขึ้น คนจะรู้ว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำโดยไม่ต้องให้ใครมาสั่ง คนจะเคารพกฏหมาย เคารพสิทธิของผู้อื่นมากขึ้น เพราะเขาผ่านกระบวนการปลูกฝังโดยใช้หลักเหตุและผลมาก่อนแล้ว

ขอยกตัวอย่างง่ายๆเรื่องการแซงคิว เราไปบอกว่าแซงคิวมันไม่ดี แต่ไม่ได้บอกว่าแซงคิวไม่ดีอย่างไร ทั้งๆทีแซงคิวเป็นประโยชน์กับเรามากเพราะว่าเราก็จะได้ในสิ่งที่เราต้องการเร็วขึ้นจริงไหมครับ แล้วทำไมเราต้องไปต่อแถวหล่ะ แต่การแซงคิวทำให้คนที่รอมาก่อนนั้นเสียเปรียบ ก็เหมือนเป็นการละเมิดสิทธิ์จริงไหมครับ?

เพลงหน้าที่ของเด็ก ถึง ค่านิยม 12 ประการ บอกอะไรเราบ้าง อดีต - ปัจจุบัน - อนาคต
Share this